ร่าง รธน.ฉบับรัฐบาลแพ้โหวต คา กมธ.
http://webboard.seri...8%B2-%E0%B8%81/
ล่าสุด:
กมธ.ข้างมากล้างมติเก่าใช้ร่างรธน.มีสสร.99คน
กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญซีกฝ่าย รัฐบาลใช้เสียงข้างมากหักล้างมติเก่า ลงคะแนน 21 ต่อ 3 เสียง หันมาใช้ร่าง รธน.ฉบับของรัฐบาล ให้มีส.ส.ร.99 คนมาจากการเลือกตั้ง 77 คน และสรรหา 22 คน แม้ว่าวันก่อนหน้านี้มีมติให้มีส.ส.ร. 200 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงไปแล้วก็ตาม โดยบรรยากาศประชุมถกกันด้วยความเคร่งเครียดตลอดทั้งวันนี้ ท่ามกลางการวอล์คเอาท์ของ กมธ.เสียงข่างน้อยจากฝ่ายค้านถึง 2 ครั้ง โดยเฉพาะกมธ.ฝ่าย ปชป. โวยถูกปล้นชัยชนะ
ตั้งแต่เวลา 09.00 น.วันนี้ (29 มี.ค.) มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน วันนี้ยังเป็นการอภิปรายต่อเนื่องจากเมื่อวาน หลังจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291/1 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอแพ้โหวตในชั้นกมธ.ด้วยคะแนน 10 ต่อ 12
ทั้งนี้นายสามารถ กล่าวก่อนการประชุม กมธ.ว่า การประชุมในวันนี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปในการพิจารณามาตรา 291/1 ที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยการลงมติของ กมธ.จะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ที่เสนอโดยนายสุนัย จุลพงศธร และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคชาติไทยพัฒนา ที่เสนอโดยภราดร ปริศนานันทกุล เข้ามาลงมติร่วมกับร่างของกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่เสนอแนวทางเลือกตั้ง ส.ส.ร.ด้วยการเลือกตั้งทางตรงทั้งหมด ใน 9 แนวทางด้วย โดยเหตุผลที่นำ 2 ร่างเข้ามาพิจารณาด้วยเพราะเป็นร่างที่รับหลักการมาแล้ว
กมธ.ถกเครียด ปชป.วอล์คเอาท์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แต่การประชุมตลอดช่วงเช้าบรรยากาศก็ยังเป็นเช่นเดิมไม่ต่างจากเมื่อวาน โดยกมธ.ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าเมื่อมีการโหวตให้ร่างรัฐบาลตกไปแล้ว ก็ควรจะพิจารณาใน 9 ร่างที่เหลือเท่านั้น ไม่ควรจะนำร่างอื่นมาลงมติรวมกันอีก เพราะก่อนหน้านี้กมธ.ฝ่ายพรรคเพื่อไทยไม่ได้เสนอมาก่อนที่จะมีการโหวต ขณะที่กมธ.ฝั่งเพื่อไทยยืนยันว่าไม่ได้ติดใจในร่างครม.ที่ตกไป แต่หากจะมีการพิจารณาร่างอื่นที่ไม่ใช่รัฐบาล ก็ควรจะนำร่างของพรรคเพื่อไทย และร่างของพรรคชาติไทยพัฒนา มาร่วมหารือด้วย
เนื่องจาก 2 ร่างนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภามาแล้ว อีกทั้งหากมีการเปลี่ยนรูปแบบที่ต่างไปจากร่าง ครม.ซึ่งระบุให้มี ส.ส.ร.จาก2ประเภทคือ การเลือกตั้ง ส.ส.ร.จังหวัด และประเภทผู้เชี่ยวชาญ เป็นการเลือกตั้งส.ส.ร.ทั้งหมด อาจผิดหลักการได้
ทั้งนี้หลังจากถกเถียงกันร่วม 1 ชั่วโมง 30 นาที นายสามารถ พยายามจะหาข้อยุติด้วยการโหวต ทำให้กมธ.ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยเดินวอล์คเอาท์ออกจากห้องประชุมไป และไม่ขอลงมติดังกล่าว อย่างไรก็ตามนายสามารถก็ยังไม่ให้ที่ประชุมมีการโหวตในช่วงเช้าแต่อย่างใด และสั่งให้พักการประชุม
ย้อนพิจารณาหลักการรับจากสภา
เมื่อเข้าสู่ที่ประชุมในช่วงบ่ายในเวลา 13.00 น.ยังเป็นการพยายามหาข้อสรุปจากประเด็นในช่วงเช้า โดยฝ่ายรัฐบาลพยายามจะหยิบยกเอาหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้ มาส.ส.ร.จาก 2 ประเภท ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาวาระแรกแล้วเช่นเดิมเพราะการจะเปลี่ยนแปลงจากนี้ คงทำไม่ได้ ขณะที่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์มองว่าหลักการนั้นเป็นเรื่องที่เคยหารือมาแล้ว แต่ถูกแขวนไว้ตั้งแต่การประชุมครั้งที่ผ่านมา การประชุมดำเนินมาตามข้อบังคับมาตลอด แต่เป็นเพราะฝ่ายรัฐบาลรู้ดีว่าผิดพลาดตั้งแต่ตอนช่วงโหวต เพราะชะล่าใจที่ไม่เสนอร่างอื่นๆในตอนแรกเท่านั้น
โดยนายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ในมาตรา 291/1 นั้น เมื่อโหวตไปแล้วก็ควรจะยึดตามผลโหวต ซึ่งเป็นข้อบังคับ และจารีตประเพณีที่ทำกันมา แต่การที่โหวตแพ้แล้วและจะกลับมติ โดยอ้างว่ากลัวจะขัดกับหลักการนั้น ไม่ต่างอะไรจากการปล้นชัยชนะที่กมธ.พรรคประชาธิปัตย์ได้มาเมื่อวาน
นอกจากนี้จากการรับฟังความเห็นภาคประชาชน เมื่อการประชุมครั้งก่อน ภาคประชาชน กรณีของนายโคทม อารียา สถาบันสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ยังเสนอให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยตรงทั้งหมด ซึ่งก็เหมือนกับที่พรรคประชาธิปัตย์จะยืนตามการแปรญัตติของนายเจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา คือเลือกตั้งโดยตรง 200 คน
ดังนั้นหากฝ่ายรัฐบาลละเลย โดยอ้างว่าต้องทำไปเพื่อยึดตามหลักการ เช่นนี้จะเรียกภาคประชาชนเข้ามาเสนอความเห็นทำไม
คุยนอกรอบไม่ลงตัว
เมื่อถึงช่วงนี้การประชุมเป็นไปอย่างเคร่ง เครียดเพราะต่างฝ่ายต่างยึดแนวทางของตน ทำให้นายสามารถ สั่งพักการประชุม และในช่วงนี้เองกมธ.ทั้ง 2 ฝ่าย ได้พยายามมาพูดคุยกันนอกรอบ โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการตกลงกันว่าพรรคประชาธิปัตย์จะยอมรับการมี ส.ส.ร.จาก 2 ส่วน แต่ทางพรรคเพื่อไทยต้องยอมเพิ่มจำนวน ส.ส.ร.ในส่วนส.ส.ร.จังหวัดให้มากขึ้นกว่าจังหวัดละ 1 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามเมื่อกลับมาสู่การประชุมสถานการณ์ก็ยังไม่ได้คลี่คลายแต่อย่าง ใด และกมธ.ฝ่ายรัฐบาลพยายามจะเสนอญัตติให้ใช้การโหวตเพื่อข้อยุติ โดยนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กรรมาธิการฯจากพรรคเพื่อไทย ได้เสนอให้มีการทบทวนมติ ทำให้บรรยากาศกลับไปสู่การโต้เถียงอีกครั้ง
จนทำให้กรรมาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์ อาทิ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และนายธนา ชีรวินิจ ได้พากันวอล์คเอ้าท์จากห้องประชุมเป็นครั้งที่สอง โดยให้เหตุผลว่า การด่วนสรุปและการปฏิบัติหน้าที่ถือว่าไม่ชอบ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พวกตนจึงไม่สามารถอยู่ร่วมประชุมได้ แต่คงเหลือนายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระนอง นายนิพนธ์ ส.ส.สงขลาที่อยู่ในห้องประชุมและแสดงความเห็นคัดค้าน จนที่ประชุมโต้ตอบกันไปมาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม นายพิชิฏ ชื่นบาน กรรมาธิการฯจากพรรคเพื่อไทย เสนอญัตติให้ที่ประชุมพิจารณาทบทวนการลงมติมาตรา 291/1 อีกครั้ง และที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นให้มีการทบทวน โดยที่ไม่มีผู้คัดค้านเนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงมติในประเด็นนี้
หักดิบใช้ 21 เสียง ล้างมติเก่า
ต่อจากนั้นจึงเป็นการลงมติว่าในมาตรา 291/1 ซึ่งเป็นการให้การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญยึดตามแนวทางของร่างครม.คือให้มี การสรรหาจาก ส.ส.ร.ใน 2 รูปแบบ คือการเลือกตั้งจากประชาชนจังหวัดละ1คน และคัดเลือกจากที่ประชุมรัฐสภาจำนวน 22 คน ซึ่งมาจากสาขากฎหมายมหาชน6คน รัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์จำนวน6คน และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน เศรษฐกิจ ตามที่ร่างระบุอีก10คน ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติ 21 ต่อ 3 เห็นชอบให้ยืนตามร่างของครม. ส่วนมาตรา 291/2 นั้น ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นชอบให้ยื่นตามร่างครม.ขณะที่กมธ.พรรคประชาธิปัตย์สงวน ความเห็นไว้อภิปรายในที่ประชุมรัฐสภา
จากนั้นเป็นการพิจารณาในส่วนของมาตรา 291/3 ซึ่งเป็นเรื่องคุณสมบัติบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง มาตรา 291/4 ซึ่งเป็นเรื่องคุณสมบัติส.ส.ร.ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นยืนตามร่างครม.ทุก ประการ ขณะที่กมธ.พรรคประชาธิปัตย์สงวนความเห็นในการอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภา ทั้งนี้หลังจากใช้เวลาประชุมมากกว่า 7 ชั่วโมง ประธานจึงปิดการประชุมในเวลา 17.45 น. ซึ่งในการประชุมสัปดาห์หน้า จะเป็นการประชุมแบบเต็มวันทั้งวันที่ 4-5 เม.ย.
Src: http://www.suthichai...om/detail/26163
ก็คิดไว้อยู่แล้ว แต่
ช่วยกันเผยแพร่+ประณาม กันครับ
[edit เพิ่ม#1:]
ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น ช่วยกันครับ
สิ่งที่อัปยศที่สุด ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ดู ผู้ที่ชอบอ้างประชาธิปไตย เป็นเสียงส่วนใหญ่ เวลาแพ้ เขาทำอย่างไร
[edit เพิ่ม#2:]
ข่าวข้น คนข่าว 29-03-55 ช่วงสุดท้าย (เผื่อผู้ที่ไม่ได้ดูครับ)
http://www.youtube.com/watch?v=_pPJqHKr7VU
Edited by XqOrez, 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 - 06:36.