Jump to content


สถานการณ์โลก

เป็นสมาชิกตั้งแต่ 6 กันยายน 2555
ออฟไลน์ เข้าใช้งานครั้งล่าสุด: 19 มีนาคม 2556 13:01
-----

Topics I've Started

ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตอนที่ 3 กรณีคะแนน electoral votes ไม่สามารถตั...

31 ตุลาคม พ.ศ. 2555 - 15:47

ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตอนที่ 3

กรณีคะแนน electoral votes ไม่สามารถตัดสินว่าใครได้เป็นประธานาธิบดี

31 ตุลาคม 2012

ชาญชัย


http://chanchaiblogg.../2012/10/3.html


เราได้ทราบแล้วว่า Electors จำนวน 538 คน หรือคะแนน electoral votes จำนวน 538 คะแนนนี้จะเป็นผู้เลือกและกำหนดว่าใครจะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีกับรองประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกา

เมื่อถึงวันที่ 6 มกราคม 2013 รัฐสภารวมสองสภาจะเปิดการประชุมร่วมเพื่อนับจำนวน electoral votes โดยรองประธานาธิบดีซึ่งมีฐานะเป็นประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่งจะเป็นผู้รับผิดชอบการนับและประกาศผลการเลือกตั้งทั้งตำแหน่งประธานาธิบดีกับรองประธานาธิบดี

ถ้าไม่มีผู้สมัครตำแหน่งปธน.คนใดได้คะแนนเสียงข้างมาก คือจะต้องได้ 270 คะแนนหรือมากกว่า (จากคะแนนรวม 538 คะแนน) รัฐธรรมนูญมาตรา 12 บัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ตัดสินใจว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี โดยให้เลือกจากผู้สมัคร 3 คนแรกที่มีคะแนน electoral votes สูงสุด และทำการลงคะแนนอีกครั้งโดยแต่ละมลรัฐจะมีสิทธิเพียง 1 เสียง ผู้ชนะจะต้องได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง

ในกรณีนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นผู้ตัดสินใจเลือกปธน. ผลที่ออกมาอาจตรงหรือไม่ตรงกับผล electoral votes หรือ popular votes ก็เป็นได้ และเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เช่นในปี 1824 สภาผู้แทนราษฎรเลือกนาย John Quincy Adams เป็นปธน. แม้ว่านาย Andrew Jackson ได้คะแนน electoral votes กับ popular votes สูงกว่า

ในทำนองคล้ายกัน ถ้าไม่มีผู้สมัครตำแหน่งรองปธน.คนใดได้คะแนนเสียงข้างมาก วุฒิสมาชิกจะเป็นผู้เลือกรองปธน. โดยเลือกจากผู้สมัคร 2 คนแรกที่มีคะแนน electoral votes สูงสุด การลงคะแนนแต่ละมลรัฐมีสิทธิตามจำนวนวุฒิสมาชิกที่แต่ละคนมี 1 เสียง

คำถาม การเลือกตั้งปีนี้ (2012) มีโอกาสที่ผู้สมัครจะไม่ได้คะแนน electoral votes เกินกึ่งหนึ่งหรือไม่

คำตอบ คือไม่มี เพราะไม่ปรากฎข่าวว่าผู้สมัครจากพรรคที่ 3 หรือพรรคขนาดเล็กมีความนิยมพอจะชนะการเลือกตั้งในมลรัฐใดมลรัฐหนึ่ง ดังนั้น คะแนน electoral votes จะอยู่ในสองพรรคใหญ่เท่านั้น และจะมีพรรคหนึ่งที่มีคะแนนเกินกึ่งหนึ่งแน่นอน

กรณีที่ผู้สมัครจะไม่ได้คะแนน electoral votes เกินกึ่งหนึ่ง จะเกิดในกรณีมีพรรคที่ 3 หรือพรรคขนาดเล็กชนะการเลือกตั้งบางมลรัฐ และพรรคใหญ่ทั้งสองพรรคต่างไม่สามารถได้คะแนนกึ่งหนึ่ง

การเลือกตั้งเมื่อปี 1968 ผู้สมัคร George Wallace ในนามพรรค American Independent ได้คะแนน electoral votes 46 คะแนน เป็นการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายที่พรรคที่ 3 สามารถได้คะแนนดังกล่าว นับจากนั้นไม่เคยมีพรรคที่ 3 ที่ได้คะแนน electoral votes อีกเลย

ระบบพรรคการเมืองสหรัฐฯ ได้พัฒนาสู่ระบบสองพรรคมานานแล้ว ยิ่งในระยะหลังบริบททางการเมืองกับยุทธศาสตร์การหาเสียงของสองพรรคใหญ่ไม่เกื้อหนุนให้ผู้สมัครพรรคเล็กมีโอกาสได้คะแนน electoral votes เหตุผลสำคัญคือคนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่สนใจเลือกพรรคการเมืองขนาดเล็ก เพราะเห็นว่าอย่างไรเสียผู้สมัครพรรคเล็กจะไม่มีโอกาสชนะการเลือกตั้งตำแหน่งปธน. ทำให้คะแนน electoral votes กระจุกตัวอยู่กับสองพรรคใหญ่เท่านั้น

ดังนั้น แน่นอนว่าผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยต่อไปคือผู้สมัครจากสองพรรคใหญ่นั่นเอง

---------------------------------


ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตอนที่ 2 ระบบ ‘winner-take-all’

31 ตุลาคม พ.ศ. 2555 - 11:42

ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตอนที่ 2

ระบบ ‘winner-take-all’

31 ตุลาคม 2012

ชาญชัย


http://chanchaiblogg.../2012/10/2.html


ในตอนที่แล้วเราได้กล่าวถึงตัวละครสำคัญของการเลือกตั้งประธานาธิบดีกับรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่าขึ้นอยู่กับบุคคลที่มีฐานะเป็น Elector คนเหล่านี้เป็นผู้ลงคะแนนเลือกปธน.อย่างแท้จริง ในตอนนี้เราจะศึกษาให้เข้าใจหลักการหรือระบบที่มีผลต่อการลงคะแนนเลือกของ Elector เหล่านี้นั่นคือ หลักคิดหรือระบบที่เรียกว่า ‘winner-take-all’

แนวคิดของ ‘winner-take-all’ เกิดจากการมองมลรัฐ (state) เหมือนรัฐ (State) ๆ หนึ่งที่ต้องมีผู้ปกครองหนึ่งเดียวเพื่อการบริหารจัดการที่มีเอกภาพ (ทำนองเดียวกับประเทศมีประธานาธิบดีเพียงคนเดียวและมีอำนาจบริหารประเทศสูงสุด) ดังนั้น ในแต่ละมลรัฐ เมื่อได้ผู้สมัครที่ได้คะแนน popular vote สูงสุด Electors ทุกคนของมลรัฐนั้นจะเทคะแนนเลือกผู้สมัครคนนั้นๆ เพียงคนเดียว เป็นลักษณะที่เรียกกว่า ‘winner-take-all’

ยกเว้นสองมลรัฐ คือ มลรัฐเมนกับเนบรัสกาที่ไม่ใช้หลักการนี้

อธิบายง่ายๆ ว่า มลรัฐใดที่ผู้สมัครได้คะแนน popular vote ประจำมลรัฐนั้นสูงสุด จะได้คะแนน electoral votes ทั้งหมดของมลรัฐนั้นๆ หรืออีกนัยหนึ่งคือ 1 มลรัฐคือ 1 เขตเลือกตั้งที่มีผู้ชนะการเลือกตั้งเพียงคนเดียว (พรรคเดียว)

ภายใต้ระบบการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีกับรองประธานาธิบดีปัจจุบัน ผลการเลือกตั้งจะมีคะแนนรวม 2 อย่าง คือ คะแนนรวมที่ประชาชนเลือกผู้สมัคร (popular votes) กับคะแนนรวมของ Electors แต่การตัดสินว่าผู้สมัครคนใดจะชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีกับรองประธานาธิบดีขึ้นกับคะแนนรวมของ Electors เท่านั้น

ดังนั้น ผู้สมัครที่ได้คะแนน popular votes ทั้งประเทศสูงสุดอาจไม่ใช่ผู้ชนะการเลือกตั้ง

ในประวัติศาสตร์การเลือกประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยมีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง เช่นกรณีประธานาธิบดี Abraham Lincoln, Woodrow Wilson, Harry Truman, John F. Kennedy, Richard Nixon (ในปี 1968), Bill Clinton, and George W. Bush (ในปี 2000) ปธน.เหล่านี้ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน popular votes ต่ำกว่าคู่แข่ง

ทั้งหมดนี้เป็นผลจาก elector votes กับระบบ ‘winner-take-all’
ควรยึดคะแนน elector votes หรือ popular votes

ระบบการเลือกตั้งผ่าน Elector College กับการยึดหลัก ‘winner-take-all’ มีทั้งข้อดีข้อเสีย สังคมอเมริกันยังถกเถียงกันอยู่ ทุกวันนี้ผู้สมัครมีแนวโน้มมุ่งหาคะแนน elector votes เป็นหลัก

ฝ่ายที่เห็นว่าควรยึด popular votes ให้เหตุผลว่า

1 Popular votes สะท้อนความต้องการของประชาชนโดยตรง

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าเมื่ออเมริกาเริ่มก่อตั้งประเทศ เริ่มต้นใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตย กลุ่มผู้ก่อตั้งกังวลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าจะลงคะแนนอย่างมีความเข้าใจมีเหตุผลหรือไม่ จึงวางระบบ Elector College ขึ้นมากลั่นกรองผลการลงคะแนนของประชาชนอีกทอดหนึ่ง และจนถึงบัดนี้ระบบการเลือกตั้งเช่นนี้ยังดำรงอยู่เรื่อยมา

เมื่อกาลเวลาผ่านไป บางคนเห็นว่าระบบการเลือกตั้งปธน.ควรเปลี่ยนจากระบบปัจจุบันเป็นการเลือกผ่านคะแนนเสียงของประชาชน (popular votes) โดยตรงจะดีกว่าเพราะคือมติของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศโดยตรง

2 การยึดคะแนน elector votes ทำให้ผู้สมัครมุ่งหาเสียงกับบางมลรัฐเท่านั้น

ตามระบบการเลือกตั้งปัจจุบัน ผู้สมัครจะลดความสำคัญต่อมลรัฐที่ตนคิดว่าจะชนะแน่หรือแพ้แน่ และจะทุ่มเททรัพยากรไปกับมลรัฐที่มีความสำคัญต่อผลรวม electoral votes กับมลรัฐที่ผู้สมัครมีโอกาสก้ำกึ่งว่าตนอาจจะแพ้หรือชนะในมลรัฐนั้น เป็นประเด็นยุทธศาสตร์การเลือกตั้งที่ผู้สมัครจะต้องวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งให้สอดคล้องต่อระบบการเลือกตั้ง โดยไม่สนใจว่าได้ให้ความใส่ใจกับทุกมลรัฐโดยเท่าเทียมหรือไม่ บางครั้งถึงกับออกนโยบายเพื่อตอบสนองบางมลรัฐโดยตรง ละเลยภาพรวมทั้งประเทศ หรือเท่ากับละเลย popular votes นั่นเอง

ฝ่ายที่เห็นว่ายังควรยึด electoral votes ให้เหตุผลว่า หากยึด popular votes จะทำให้ผู้สมัครละเลยเสียงของฝ่ายข้างน้อย นั่นคือ ผู้สมัครจะมุ่งให้ความสำคัญกับชนกลุ่มใหญ่ ละเลยความต้องการเฉพาะของฝ่ายข้างน้อย ทำให้ประชาชนที่เป็นฝ่ายข้างน้อยหรือชนกลุ่มน้อยเสียประโยชน์เมื่อนโยบายผู้สมัครมุ่งตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มใหญ่

ข้อนี้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยที่ว่าแม้จะใช้คะแนนเสียงข้างมากเป็นตัวตัดสิน แต่ต้องไม่ละเลยความต้องการของเสียงข้างน้อย ต้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของเสียงข้างน้อย เพราะเขาเป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิ เสรีภาพที่จำต้องได้รับการปกป้องไม่ต่างจากคนอื่นๆ

ข้อสรุปคือ ทั้งสองแนวทางต่างมีโอกาสทำให้คนอเมริกันไม่ได้รับความเท่าเทียม ถ้ายึด popular votes จะทำให้ละเลยเสียงข้างน้อย ถ้ายึด electoral votes จะละเลยบางมลรัฐ

จนถึงทุกวันนี้ ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีกับรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังคงเป็นระบบเดิมตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ ประเด็นถกเถียงยังคงถกเถียงกันต่อไป แต่หากต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งอาจต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

---------------------------------


ฮิลลารี คลินตัน หญิงเหล็กหญิงเก่ง

26 ตุลาคม พ.ศ. 2555 - 17:31

ฮิลลารี คลินตัน หญิงเหล็กหญิงเก่ง

26 ตุลาคม 2012

ชาญชัย


http://chanchaiblogg...og-post_26.html


ทั่วโลกเริ่มรู้จักชื่อฮิลลารี ร็อดแฮม คลินตันในฐานะสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกาในปี 1993 เมื่อนายวิลเลียม เจฟเฟอร์สัน คลินตัน หรือที่มักรู้จักกันในนามบิล คลินตันได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ในฐานะสุภาพสตรีหมายเลข 1 เธอมีหน้าที่ต้องแสดงบทบาทสนับสนุนประธานาธิบดีหลายอย่าง แต่เรื่องที่เป็นข่าวดังทั่วโลกเมื่อเกิดเหตุอื้อฉาวทางเพศระหว่างตัวประธานาธิบดีคลินตันกับนักศึกษาหญิงที่มาฝึกงานในทำเนียบขาวคนหนึ่ง สื่อมวลชนนำเสนอข่าวความระหองระแหงระหว่างคู่สามีภรรยาอย่างต่อเนื่อง

แต่นั่นไม่เป็นเหตุให้เธอท้อแท้ ฮิลลารี คลินตัน ลงสมัครเลือกตั้งตำแหน่งวุฒิสมาชิกเป็นครั้งแรกและชนะการเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกมลรัฐนิวยอร์กในคราวเลือกตั้งปลายปี 2000 และชนะการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2006 ได้เป็นวุฒิสมาชิกต่ออีกสมัย

เส้นทางการเมืองของเธอไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ ในปี 2007 เธออาจหาญประกาศลงชิงตำแหน่งผู้แทนพรรคเดโมแครตเพื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2008 เป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของพรรคที่ลงชิงตำแหน่งดังกล่าว และคู่แข่งสำคัญของเธอไม่ใช่อื่นใคร นั่นคือวุฒิสมาชิกบารัก โอบามาหรือประธานาธิบดีคนปัจจุบันนั่นเอง

ด้วยความสามารถส่วนตัวอันโดดเด่นกับคะแนนนิยมภายในพรรคเดโมแครตที่เป็นรองเฉพาะนายโอบามา เธอจึงได้รับการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเมื่อนายโอบามาชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี และเริ่มฉายความสามารถให้ทั่วโลกได้ประจักษ์

รัฐมนตรีคลินตันนิยามหลักการทำงานของเธอว่าเป็น “การทูตสาธารณะ” เธอต้องการนำเสนอจุดยืนหลักคิดของอเมริกาผ่านสื่อทุกประเทศ เพราะเธอคือตัวแทนของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ส่งสาสน์จากประเทศตนไปสู่คนทั่วโลก

เช่นกลางเดือนกรกฎาคม เธอได้เดินทางรอบโลกด้วยการเยือน 9 ประเทศ เริ่มจากฝรั่งเศส ต่อด้วยอัฟกานิสถาน ญี่ปุ่น มองโกเลีย เวียดนาม ลาว กัมพูชา อียิปต์ จบที่อิสราเอล แล้วจึงบินกลับประเทศ คิดเป็นระยะทางบิน 43,450 กิโลเมตร (มากกว่าระยะทางรอบโลก 3,220 กิโลเมตร) และเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เยือนต่างประเทศมากที่สุดกว่าร้อยประเทศ

ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเธอต้องเผชิญหน้ากับผู้นำประเทศต่างๆ อยู่เสมอ ทั้งพวกเห็นด้วยกับนโยบายสหรัฐฯ กับพวกที่คัดค้านต่อต้าน มีวาระที่ต้องเผชิญหน้ากับการโต้แย้ง การไม่เห็นด้วย จากผู้นำเหล่านั้น

เฉพาะในรอบเดือนที่ผ่านมา เธอต้องแบกรับภาระอันหนักอึ้งของประเทศอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลก ต้องเผชิญกับปัญหาการเผาโจมตีจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายต่อสถานกงสุลสหรัฐฯ ประจำเมืองเบงกาซี ต้องเตรียมการป้องกันสถานทูต สถานที่สำคัญๆ ทั่วโลกจากเหตุมุสลิมลุกฮือประท้วงเพราะภาพยนตร์ลบหลู่ศาสนา จนถึงนายกรัฐมนตรีอิสราเอลออกโรงโจมตีความอ่อนแอของประธานาธิบดีโอบามาต่อนโยบายโครงการพัฒนานิวเคลียร์อิหร่าน

ประเด็นร้อนแรงที่เธอต้องเผชิญครั้งสุดท้ายน่าจะเป็นเรื่องการเผาโจมตีสถานทูตสหรัฐฯ ประจำเมืองเบงกาซี ประเทศลิเบีย เอกอัครราชทูตพร้อมกับเจ้าหน้าที่ชาวอเมริกันอีก 3 คนเสียชีวิตในบริเวณสถานกงสุล ไม่น่าเชื่อว่ารัฐบาลโอบามาสามารถพลิกเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยการแสดงจุดยืนว่าประชาธิปไตยยังหมายถึงการที่พลเมืองมีเสรีภาพในการพูดสิ่งที่เขากับกลุ่มของเขาคิดเห็นโดยปราศจากความกลัว บนพื้นฐานของหลักนิติธรรมและกระบวนการที่ปกป้องสิทธิของทุกคน แผ่นดินอเมริกาเป็นบ้านของคนทุกความเชื่อทุกศาสนา และรัฐบาลสหรัฐฯ กับลิเบียกำลังเร่งหาตัวผู้กระทำผิดซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนลิเบีย รัฐบาลและชาวลิเบียไม่เห็นด้วยกับการก่อการร้าย

ไม่ว่าความจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร ความผิดพลาดความสับสนของข้อมูลเหตุการณ์อยู่ตรงไหน ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ นางฮิลลารี คลินตันยืดอกแสดงความรับผิดชอบว่าตนเป็นผู้รับผิดชอบดูแลกระทรวงการต่างประเทศที่มีเจ้าหน้าที่กว่า 6 หมื่นคนในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก 275 แห่ง ส่วนใครจะตีความว่าเป็นการเบี่ยงเป้าไม่ให้โจมตีประธานาธิบดีโอบามาในช่วงหาเสียงโค้งสุดท้ายก็แล้วแต่ว่าใครจะมีมุมมองเช่นไร

มาถึงบัดนี้ นางฮิลลารี ร็อดแฮม คลินตัน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2 สมัย อดีตวุฒิสมาชิกมลรัฐนิวยอร์ก 2 สมัยและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศประกาศจะไม่ได้รับตำแหน่งสมัยที่ 2 อีกไม่ว่าประธานาธิบดีบารัก โอบามาจะได้รับเลือกอีกสมัยหรือไม่

รัฐมนตรีคลินตันในวัย 64 ปีตัดสินใจแล้วว่าตนได้มาถึง ณ เวลาที่จะหยุดได้พักจากการงานทั้งปวง แม้ใจนั้นยังตั้งใจแน่วแน่ที่จะรับใช้ชาติตลอดไป

คนจำนวนมากจะเฝ้ารออ่านหนังสืออัตชีวประวัติของหญิงเหล็กหญิงเก่งคนนี้

--------------------------


ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตอนที่ 1 ตำแหน่งประธานาธิบดีมาจากการเลือกโดย E...

24 ตุลาคม พ.ศ. 2555 - 21:28

ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตอนที่ 1

ตำแหน่งประธานาธิบดีมาจากการเลือกโดย Electors

24 ตุลาคม 2012

ชาญชัย

http://chanchaiblogg.../2012/10/1.html


ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจได้โดยง่าย กระทั่งคนอเมริกันหลายคนยังเข้าใจผิด ไม่ครบถ้วน เหตุผลส่วนหนึ่งเกิดจากประวัติศาสตร์การเลือกตั้งที่ต้องย้อนยุคตั้งแต่สมัยก่อตั้งประเทศ รากฐานระบบการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นพร้อมกับรัฐธรรมนูญประเทศ แม้กฎหมายการเลือกตั้งมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ ระบบการเลือกตั้งปัจจุบันเป็นผลจากบริบทของสมัยนั้นซึ่งแตกต่างจากบริบทยุคปัจจุบัน

จนถึงทุกวันนี้ตำแหน่งปธน.กับรองปธน.สหรัฐฯ ไม่ได้รับเลือกโดยตรงจากคะแนนเสียงของประชาชนชาวอเมริกันโดยตรงอย่างที่หลายคนเข้าใจ แม้ว่าประชาชนจะกาเครื่องหมายว่าจะเลือกผู้สมัครคนใด แต่มีค่าเท่ากับเป็นการไปลงคะแนนเพื่อเลือกกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า ‘Electors’ จากนั้นกลุ่มคนเหล่านี้จึงไปเลือกปธน.กับรองปธน.อีกทอดหนึ่ง

เหตุที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเช่นนั้น เพราะขณะเมื่อเริ่มก่อตั้งประเทศ เริ่มต้นสู่การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย (แม้ไม่สมบูรณ์เต็มร้อยเมื่อเทียบกับยุคปัจจุบัน) กลุ่มผู้ร่างรัฐธรรมนูญกังวลการตัดสินใจของประชาชน ต้องการป้องกันไม่ให้ประชาชนเลือกด้วยอารมณ์ จึงกำหนดตัวบุคคลหรือที่เรียกว่า ‘Electors’ ที่จะใช้สิทธิเลือกประธานาธิบดีด้วยจิตใจที่สงบเยือกเย็น มีเหตุผล

‘Electors’ จึงทำหน้าที่เป็นตัวกลั่นกรองการลงมติของประชาชนอีกทอดหนึ่ง และเป็นผู้ออกเสียงเลือกตำแหน่งปธน.กับรองปธน.อย่างแท้จริงตามรัฐธรรมนูญ

คนอเมริกันจะไปลงคะแนนเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ผลการเลือกตั้งนี้จะได้คะแนนที่เรียกว่า popular votes ส่วน ‘Electors’ จะลงไปคะแนนในเดือนธันวาคมหลังทราบผล popular vote แล้ว ได้คะแนนที่เรียกว่า electoral votes ผู้ที่จะได้รับตำแหน่งปธน.กับรองปธน.จะดูจากคะแนนเสียงข้างมากของ electoral votes (ยกเว้นบางกรณีซึ่งจะอธิบายต่อไป)


Electors

Electors คือ ตัวแทนของพรรคการเมืองที่พรรคคัดสรรมาอย่างดี สมาชิกนิติบัญญัติของแต่ละมลรัฐเป็นผู้ตัดสินเลือกในขั้นสุดท้าย และได้รับการแต่งตั้งจากมลรัฐในปีที่มีการเลือกตั้งปธน.ตามกฎหมายของแต่ละมลรัฐ มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อทำหน้าที่เลือกปธน.กับรองปธน.

แต่ละมลรัฐจะต้องแต่งตั้งคนเหล่านี้ให้ได้อย่างน้อย 6 วันก่อนการประชุม Electors ในวันที่ 17 ธันวาคมของปีนี้ (2012)

Electors มีจำนวน 538 คนเท่ากับจำนวนของสมาชิกรัฐสภาบวกกับอีก 3 คนของ District of Columbia ตามรธน.สหรัฐฯ ให้ถือว่า District of Columbia มีฐานะเทียบเท่ามลรัฐในกระบวนการเลือกตั้ง

สหรัฐฯ ประกอบด้วย 50 มลรัฐ มีส.ว.มลรัฐละ 2 คน เท่ากับมี 100 ส.ว. ส่วน ส.ส.มี 435 คน เมื่อรวมกับอีก 3 คนของ District of Columbia จึงมีทั้งหมด 538 คน

Electors แต่ละคนจะมี 1 คะแนนเสียง เรียกคะแนนนี้ว่า electoral votes

กลุ่มคนเหล่านี้บางครั้งเรียกว่า Electoral College

มีข้อควรรู้คือสัดส่วน ส.ส.ขึ้นกับจำนวนประชากรในแต่ละมลรัฐ แต่ไม่ได้เป็นไปในอัตราส่วนเดียวกัน เช่น ในปี 2004 มลรัฐแคลิฟอร์เนีย มี 1 electoral votes ต่อประชากรผู้มีสิทธิออกเสียงทุก 664,700 คน ส่วนมลรัฐเมน มี 1 electoral votes ต่อประชากรผู้มีสิทธิออกเสียงทุก 329,300 คน มลรัฐแคลิฟอร์เนียมีทั้งหมด 54 electoral votes ส่วนมลรัฐเมนมีเพียง 4 electoral votes

ดังนั้น Electors จำนวน 538 คน หรือคะแนน electoral votes จำนวน 538 คะแนนนี้จะเป็นผู้เลือกและกำหนดว่าใครจะได้ดำรงตำแหน่งปธน.กับรองปธน.ของประเทศสหรัฐฯ

Electors ทั้งหลายจะรวมตัวกันในประชุมที่มลรัฐของตนเองเพื่อลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีกับรองประธานาธิบดีในวันจันทร์แรกหลังวันพุธที่สองของเดือนธันวาคม [คือจะให้ไปลงคะแนนในช่วงกลายเดือน ธ.ค. ปีนี้ (2012) จะตรงกับวันที่ 17 ธ.ค. หลังประชาชนไปเลือกตั้งในต้นเดือนพฤศจิกายน] การนับคะแนน Electors จะจัดขึ้นในที่ประชุมรัฐสภาในเดือนมกราคม ผู้สมัครที่ได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งคือ 270 เสียงจะได้รับตำแหน่งปธน. หรือรองปธน.

นั่นคือ คนอเมริกันจะไปลงคะแนนเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ส่วน Electors จะลงไปคะแนนในช่วงกลางเดือนธันวาคมหลังทราบผล popular vote แล้ว

กำหนดวันนับคะแนน electoral votes อย่างเป็นทางการของการเลือกตั้งปีนี้คือวันที่ 6 มกราคม 2013

เป็นวันที่คนทั้งโลกจะทราบผลว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยต่อไป

--------------------------