Jump to content


dddonut

เป็นสมาชิกตั้งแต่ 18 ธันวาคม 2555
ออฟไลน์ เข้าใช้งานครั้งล่าสุด: 20 ธันวาคม 2555 21:33
-----

Topics I've Started

พระอัจฉริยะภาพด้านธรรมชาติ

20 ธันวาคม พ.ศ. 2555 - 21:33

ขอแชร์บทความดีจาก mykingthailand.com เฉลิมพระเกียรติให้กับพ่อหลวงของป่วงชน

 

 

                              พระอัจฉริยภาพด้านธรรมชาติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ เป็นแนวพระราชดำริยึดการบริหารจัดการที่ไม่แยกส่วน  พระองค์ทรงมอง ทำให้ดูอย่างเป็นองค์รวม  แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทั้งดิน น้ำ  ป่า มีส่วนสำคัญต่อปัญหาปาก  ท้องของราษฎร  ที่สำคัญที่สุดคือ แนวพระราชดำริเกิดจากการทรงงานหนัก  เสด็จไปทุกที่ ที่มีปัญหา  ภายใต้หลักการเรียบง่าย ประหยัดและเป็นธรรมชาติอย่างที่สุด ซึ่งจะขอยกตัวอย่างเป็นกรณีให้เห็น

ทรัพยากรดิน

                 ในการปรับปรุงดินนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้มากมาย

                 เช่น  “ การปรับปรุงพัฒนาที่ดิน  ที่สำคัญคือต้องอนุรักษ์ผิวดิน ซึ่งมีความสมบูรณ์ไว้ให้ได้  ไม่ลอกหน้าดินทิ้งไป  ต้องสงวนไม้ยืนต้นที่ยังเหลืออยู่ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของแผ่นดินไว้”

           หรือ

                “ ดินที่เป็นลูกรังนั้นมีอาหารสำหรับพืชพอสมควร เป็นเพียงแต่ไม่มีจุลินทรีย์   เราต้องช่วยกันทำให้ดินมีจุลินทรีย์  โดยการอย่าปลอกเปลือกเปลือยดิน ให้ห่มดิน”

                หรือ

                 “….ดินนั้นพัฒนาขึ้นมาได้โดยไม่ยากนัก  ดินจะเค็ม จะเปรี้ยว จะจืดอะไรก็ตาม สามารถที่จะทำให้ดินดีขึ้นภายในไม่กี่ปี  โดยใช้เทคนิคแบบโบราณ  ไม่ใช้สมัยใหม่  แบบโบราณๆคือ ใช้ปุ๋ยหมัก หรือใช้ตะกอนที่ลงมาตามลำห้วย....”

                   หรือ การแก้ปัญหากรณีดินที่ถูกชะล้าง   ทรงให้ใช้หญ้าแฝกที่ขึ้นตามธรรมชาติโดยทั่วไป  ซึ่งพระองค์ทรงเรียกว่า  กำแพงที่มีชีวิต

 

 

 

ทรัพยากรน้ำ

                    ในการบริหารจัดการน้ำ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมองปัญหาในองค์รวม

เริ่มต้น  จากฟากฟ้า เมื่อเกิดภัยแล้ง  ทรงพระราชทานโครงการฝนหลวง

                     บนภูเขา   ทรงสร้างเขื่อนเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดปี   สร้างฝายต่างๆเพื่อชะลอน้ำและช่วยฟื้นฟูป่า

                     ในที่ราบลุ่ม  ทรงคิดเกษตรทฤษฎีใหม่  โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรขุดบ่อน้ำเพื่อการเกษตร   กรณีมีน้ำส่วนเกินทรงให้มีทฤษฎีแก้มลิง เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม

ทรัพยากรป่าไม้

                       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   ทรงสนพระทัยและทรงเป็นห่วงสภาพป่าไม้ในประเทศไทย  ที่นับวันจะทรุดโทรมและลดน้อยลงทุกปี  จึงได้พระราชทานพระราชดำรัสว่า

                      “ ถ้าไม่มีการอนุรักษ์   หรือสร้างป่าขึ้นมาทดแทนแล้ว ในไม่ช้าก็จะไม่มีป่าไม้ที่ให้ประโยชน์แก่เราอย่างแน่นอน  ”

                        ทรงเริ่มต้นจากการปลูกป่าในใจ  ดังพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานแก่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตอนหนึ่งว่า

                     “ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน  แล้วคนเหล่านั้น ก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน  และรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง”

                        ทรงแนะนำการปลูกป่าในเชิงผสมผสานทั้งด้านเกษตร  วนศาสตร์และเศรษฐกิจสังคม ได้แก่ การปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

                        “… การปลูกป่า ๓ อย่าง แต่ให้ประโยชน์ ๔ อย่าง ซึ่งได้ไม้ผล ไม้สร้างบ้าน และไม้ฟืนนั้น  สามารถให้ประโยชน์ได้ถึง ๔ อย่าง คือ  นอกจากประโยชน์ในตัวเองตามชื่อแล้ว   ยังสามารถให้ประโยชน์อันที่๔ ซึ่งเป็นข้อสำคัญ คือ สามารถช่วยอนุรักษ์ดิน และต้นน้ำลำธารด้วย...”

                          ทรงมีพระราชดำรัส “ ป่าเปียกกันไฟ ” เพื่อป้องกันไฟไหม้ป่า เช่น การทำฝายชะลอความชุ่มชื้น  หรือการปลูกต้นกล้วยเป็นแนวกันไฟ เป็นต้น

                       “ ...การปลูกป่าโดย ไม่ต้องปลูก” ทรงมีพระราชดำรัสว่า

                      “ ให้ช่วยดูแลรักษาป่า อย่าไปรังแกป่า   ถ้าปล่อยทิ้งไม่ให้ใครรบกวนระยะเวลา ๓๐ – ๔๐ ปี  ป่าแห่งนี้จะฟื้นคืนสภาพ...”

                        การปลูกป่าชายเลน   ทรงตระหนักถึงความสำคัญของป่าชายเลนดังมีรับสั่งว่า

                        “… ป่าชายเลนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศของพื้นที่ชายฝั่งทะเลและอ่าวไทย  แต่ปัจจุบันป่าชายเลนของประเทศไทยเรากำลังถูกบุกรุก และถูกทำลายลงไปโดยผู้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน  จึงควรหาทางป้องกันอนุรักษ์เอาไว้.... ”

                          นี่คือพระอัจฉริยภาพด้านธรรมชาติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเริ่มต้น

“ ภูผา  สู่  มหานที ” คือจากต้นน้ำ  กลางน้ำ  และปลายน้ำ ซึ่งมีความสำคัญต่อชีวิตของพวกเราชาวไทยทุกคน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต และทุกวันนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังคงรักษาสัจจวาจาที่ได้ทรงประกาศเมื่อครั้งขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินว่า

“ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม  เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ”


ประวัติความเป็นมาของการศึกษาผ่านดาวเทียม

18 ธันวาคม พ.ศ. 2555 - 19:31

Credit by mykingthailand.com
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานทุนประเดิม 50 ล้านบาท ซึ่งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยในสมัยนั้น ทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อจัดตั้งมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมและยังทรงพระกรุณาพระราชทานตราสัญลักษณ์เฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ 50 ปี ให้เป็นตราของมูลนิธิฯ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ 2538 การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม จากโรงเรียนวังไกลกังวล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เริ่มออกอากาศถ่ายทอดสดหลักสูตรมัธยมศึกษาเป็นปฐมฤกษ์ เพื่อเฉลิมฉลองมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ในปีกาญจนาภิเษก พ.ศ 2539
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงเลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษามาก่อนหน้านี้นานหลายสิบปี นับตั้งแต่ที่พระองค์ทรงเริ่มก่อตั้งสถานีวิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต มาตั้งแต่ พ.ศ 2495 ซึ่งผมก็ได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทมา 60 ปี ในฐานะนายสถานีวิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยรับสั่งว่า “การศึกษาสำคัญกับประเทศของเรา ในระบอบการปกครอง แบบประชาธิปไตย ประชาชนต้องมีความรู้ ไม่เช่นนั้นเขาจะตัดสินใจเลือกได้อย่างไร คนไม่มีความรู้ก็มีแต่จะโดนเขาหลอก ดังนั้น เราต้องหาวิธีอย่างไร ให้คนไทยทุกคนได้มีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น หรือเท่าเทียมกัน”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ผมเป็นนายสถานีวิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิตมาตั้งแต่ พ.ศ 2495 ก็รับแนวทางของพระองค์ท่านมาใช้ในการทำงานโดยตลอด สถานทีวิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต จึงได้ให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ทั่วไป ดนตรี ความรู้ทางด้านการสาธารณสุข การศึกษาแกประชาชนทั่วไปมาโดยตลอด เมื่อมีภัยพิบัติหรือโรคระบาด อาทิ โปลิโอ โรคเรื้อน ก็มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศล หลังจากทำงานนี้มานานกว่า 60 ปี จึงพอมีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการเผยแพร่กระจายเสียง และก็อยากนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้กับเรื่องการศึกษาทางไกลอย่างเป็นระบบและจริงจังมากขึ้น
เมื่อเห็นว่ามีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาในสมัยนั้น อย่างเช่นเรื่องดาวเทียม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสม มีประสิทธิภาพสูงที่จะใช้ในงานเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก ออกไปให้กว้างไกล ถึงผู้รับพร้อมกันจำนวนมากๆ คมชัดทั้งภาพและเสียง มีประสิทธิภาพเหนือกว่าการใช้สัญญาณวิทยุอย่างมาก
ในตอนนั้นเทคโนโลยีดาวเทียมที่ใช้กันอยู่ ส่วนใหญ่ก็เพียงเพื่อความบันเทิง หรือเพื่องานธุรกิจเท่านั้น เสียดายที่ยังไม่ค่อยเห็นมีใครนำมาใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่แล้วแต่คนเรานำมาใช้ ถ้ารู้จักนำไปใช้ในทางที่ถูกต้อง ก็จะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อส่วนรวม
ดังนั้นจึงค่อยๆ นำมาประยุกต์ให้เป็นการศึกษาทางไกล แนวความคิดหลักคือ เราควรใช้เทคโนโลยีธรรมดาๆ แต่ให้เกิดประโยชน์มากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเปิดโอกาสทางการศึกษา เทคโนโลยีดาวเทียมแบบนี้จึงเหมาะมากที่จะใช้ถ่ายทอดการเรียนการสอน ครูคนเดียวกัน คุณภาพเดียวกัน สอนเรื่องเดียวกัน เวลาเดียวกัน เด็กทุกโรงเรียนมีโอกาสเปิดดูได้เท่ากันหมด
นอกจากที่ทรงรับโรงเรียนวังไกลกังวลไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังได้พระราชทานแนวคิดเกี่ยวกับการดำเนินงานของมูลนิธิฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน ทรงสอนเด็กนักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวล ในรายการ “ศึกษาทัศน์” หรือ Quest for Knowledge ซึ่งเป็นรายการของพระองค์ ทรงพานักเรียนออกไปทัศนศึกษานอกสถานที่ เพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และบันทึกเพื่อใช้เผยแพร่ได้ต่อไป
นอกจากนี้ เมื่ออินเตอร์เน็ตก้าวหน้ามากขึ้น ก็สามารถถ่ายทอดสดรายการทุกช่องผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับบุคคลทั่วไป ที่ไม่ได้เป็นนักเรียนในโรงเรียน ถ้าอยู่กับบ้านก็สามารถเปิดคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเข้ามารับชมได้เลยทาง www.dlf.ac.th ถือเป็นการศึกษาตามอัธยาศัย สนองพระบรมราชโองการตามแนวคิดเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งประเทศเรียนจากครูคนเดียวกัน บทเรียนเดียวกัน เวลาเดียวกัน ภาพและเสียงคมชัดเหมือนกันทั่วประเทศ

กลอนดีๆจากคุณจิระนันท์

18 ธันวาคม พ.ศ. 2555 - 19:27

Credit by : mykingthailand.com

ณ ชานกรุงทุ่งกว้าง อโยธยา
มะขามหย่องเคยยาตรา ศึกสู้
ยุทธหัตถีหลังคชา สละชีพ
ศรีสุริโยทัยสถิตคู่ ถิ่นทุ่ง ทิพย์สวรรค์
ณ ชานกรุงทุ่งกว้าง อโยธยา
มะขามหย่องยามฝนมา รับน้ำ
ชัยภูมิป้องนครา กรุงเก่า กลศึก
ทัพใหญ่อริรุกล้ำ ท่วมน้ำ ถอยหนี

ทุ่งมะขามยามศึกจารึกค่า
ภูมิปัญญาป้องภัยให้เมืองหลวง
ประวัติศาสตร์ซึมซับรับผลพวง
เวลาล่วงหลายร้อยปีที่ลืมเลือน

ทุ่งมะขามยามนี้ยิ่งมีค่า
เมื่อถึงคราป้องภัยน้ำใต้เขื่อน
เป็นแก้มลิงโอบอุ้มคุ้มบ้านเรือน
ครั้นถึงเดือนร้อนแล้งคือแอ่งธาร

น้ำเลี้ยงนา พานิเวศเกษตรสุข
ยามท่วมทุกข์ ผันเบี่ยงเลี่ยงเมืองบ้าน
สร้างอาชีพ สร้างชุมชนดลบันดาล
ร้อยโครงการ ชุบทุ่งทองให้รองเรือง

น้ำพระทัยสองพระองค์หลั่งลงรด
ให้ปรากฏแผ่นดินทองนองสุขเนื่อง
ณ วันนี้ ทุ่งนี้ ที่แก้มเมือง
อีกบทเบื้องประวัติศาสตร์สร้างชาติไทย

เพลงขลุ่ยพลิ้วริ้วทุ่งมะขามหย่อง
ราชานุสาวรีย์ทอดมองส่องสมัย
พสกพร้อมน้อมหมายถวายชัย
ใต้ร่มเงาน้ำพระทัย-- น้ำ ใจ เมือง