http://www.bangkokbi...บธรรมเนียม.html
ในส่วนของ พ.ร.บ. ปปช. นั้น ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดไว้ในมาตรา 103 ว่า “ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา ตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด” ฉะนั้น ตามมาตรานี้ การให้ของขวัญแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถทำได้ตามเกณฑ์และตามมูลค่าที่ ปปช. ประกาศกำหนด โดยเกณฑ์ดังกล่าวใช้กับอดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งไม่ถึง สองปีด้วย
ประกาศ ปปช. เรื่องการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา เป็นกฎที่ออกตามมาตรา 103 ของ พ.ร.บ. ปปช. ข้างต้น โดยกำหนดว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาได้ใน 3 กรณีหลักคือ (1) รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากญาติซึ่งให้โดยเสน่หาตามจำนวนที่เหมาะสม ตามฐานานุรูป (2) รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติมีราคาหรือมูลค่า ในการรับจากแต่ละบุคคล แต่ละโอกาสไม่เกินสามพันบาท (3) รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่การให้นั้นเป็นการให้ในลักษณะให้กับบุคคล ทั่วไป
สังเกตว่าการให้ของขวัญแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐกรณีผู้ให้ไม่ใช่ญาติโดย หลักๆ จะมีเกณฑ์ 2 ประการคือ ประการที่หนึ่งจะต้องเป็นการให้ “โดยธรรมจรรยา” เท่านั้น หมายความว่า เป็นการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดในโอกาสต่างๆ โดยปกติตามขนบธรรมเนียม ประเพณี หรือวัฒนธรรม หรือให้กันตามมารยาทที่ปฏิบัติกันในสังคม เช่น เทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ งานแต่งงาน งานบวช งานประเพณีต่างๆ และประการที่สอง ราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคล แต่ละโอกาสไม่เกิน 3,000 บาท
การให้ในโอกาสอื่นนอกเทศกาลแม้จะไม่เกิน 3,000 บาท หรือการให้ของขวัญในช่วงเทศกาลที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาทก็จะเข้าข่ายขัดกับประกาศ ปปช. ฉบับนี้ และตาม พ.ร.บ. ปปช. ไม่ใช่ว่าเมื่อให้ไม่เกิน 3,000 บาทแล้วจะถือว่าให้ได้ตลอดทั้งปีไม่จำกัดช่วงเวลานะคะ