Jump to content


banka

เป็นสมาชิกตั้งแต่ 12 กันยายน 2554
ออฟไลน์ เข้าใช้งานครั้งล่าสุด: 30 พฤษภาคม 2557 11:30
-----

Topics I've Started

คสช.เรียก อี้แทนคุณ รายงานตัว

26 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 - 00:01

คสช.เรียก "อี้ แทนคุณ" รายงานตัวพรุ่งนี้ (26 พ.ค.) พ่วง "วิม รุ่งวัฒนจินดา" พร้อมอนุญาตธุรกิจการขนส่งสินค้าทั้งทางบก - น้ำ - อากาศ สามารถขนส่งในช่วงเวลาห้ามออกนอกอกเคหะสถานได้

วันนี้ (25 พ.ค.) เมื่อเวลา 21.20 น.คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 17/2557 เรื่อง การอนุญาตให้ขนส่งสินค้าในห้วงเวลาที่ห้ามออกนอกเคหะสถาน

ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 เรื่องห้ามออกนอกเคหะสถาน โดยห้ามมิให้บุคคลใดทั่วราชอาณาจักร ออกนอกเคหะสถาน ภายในเวลา 22.00 ถึง 05.00 ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบธุรกิจการขนส่งสินค้าทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ตลอดจนเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนในการซื้อหาสินค้าอุปโภคบริโภค จึงอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว สามารถขนส่งสินค้าในห้วงเวลาที่ห้ามออกนอกอกเคหะสถานได้ ทั้งนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงสามารถตรวจค้นยานพาหนะขนส่งสินค้าต่างๆ ได้ หากพบสิ่งบอกเหตุที่อาจเป็นการกระทำผิดกฎหมายหรืออาจส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อย ตลอดจนความมั่นคงของชาติ

จากนั้น เมื่อเวลา 22.58 น. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งที่ 18/2557 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม ณ หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ในวันที่ 26 พ.ค. 2557 เวลา 13.00-14.00 น. ตามรายชื่อดังต่อไปนี้

1. พล.อ.ไตรศักดิ์ อินทรรัสมี
2. นายวิม รุ่งวัฒนจินดา
3. นายแทนคุณ จิตต์อิสระ
4. พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ ธารีฉัตร
จาก เว็บ manager.co.th

-หวังว่าจะทำให้คิดได้นะครับว่าอะไรควรพูดตอนไหนเวลาไหน

ผบ.ทบ.ลงนามประกาศกฎอัยการศึก

20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 - 05:26

ผบ.ทบ.ลงนามประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ มีผลตีสาม วันนี้ ขณะ มทบ.11 นำทหาร 20 นายบุกสถานีเอเอสทีวี อ้างคำสั่งจาก ผบ.ทบ. ให้รอลิงก์สัญญาณแถลงประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร เหตุมือมืดป่วนหนัก ปชช.ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิตต่อเนื่อง แนวโน้มอาจเกิดการจลาจล

วันนี้(20พ.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 03.30 น. กำลังทหารประมาณ 30 นาย พร้อมอาวุธครบมือได้เข้าควบคุมพื้นที่สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี ถนนพระอาทิตย์ ทั้งนี้จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าว ASTVผู้จัดการ พบว่า ร.ท.ชูศักดิ์ แย้มยล มทบ.11 อ้างว่าได้รับคำสั่งให้นำกำลังทหาร เข้าไปด้านในสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี ภายในอาคารบ้านเจ้าพระยา โดยให้เหตุผลว่ามีคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ที่เตรียมประกาศกฎอัยการศึกในเขตกรุงเทพมหานคร จึงนำกำลังมาเพื่อขอให้สถานีเอเอสทีวี เชื่อมสัญญาณการออกอากาศจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 อย่าไรก็ดีขณะนี้ยังทหารยังคงกำลังไว้ ปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าออก

ร.ท.ชูศักดิ์ กล่าวต่อว่าคำสั่งนี้เป็นคำสั่งโดยตรง ไม่ได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร ให้รอฟังคำสั่งจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เพียงอย่างเดียว

รายงานข่าวแจ้งว่า การประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้ เพื่อควบคุมสถานการณ์การชุมนุมมวลชน ของทั้งฝ่ายต่อต้านและสนับสนุนรัฐบาลรักษาการณ์ ซึ่งหากได้รับการต่อต้านจากกองกำลังทหารที่สนับสนุนระบอบทักษิณ สถานการณ์อาจพัฒนาไปถึงขั้นปฏิวัติรัฐประหาร

อีกด้านหนึ่ง ผู้สื่อข่าว ASTVผู้จัดการได้สังเกตการณ์บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต พบว่าที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ด้านนอกอาคารมีรถบรรทุกผู้ต้องขังของตำรวจจอดขวางอยู่ แต่เมื่อกลับรถที่สามเหลี่ยมดินแดง เมื่อเวลา 03.42 น. ได้มีรถบรรทุกทหารประมาณ 4-5 คัน ขับออกมาจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ไปตามถนนวิภาวดีรังสิต ก่อนที่จะจอดอยู่ที่หน้าสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลวอยซ์ทีวี โดยมีกำลังทหารประมาณ 40-50 นาย พร้อมอาวุธได้เข้าไปด้านในอาคาร จากการสอบถามทหารที่เข้ามาที่สถานีโทรทัศน์ดังกล่าวได้ความว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จะประกาศกฎอัยการศึก จึงได้รับคำสั่งให้เข้าควบคุมพื้นที่ แต่ไม่ได้กล่าวรายละเอียดเพิ่มเติม โดยระบุว่ารับคำสั่งมาแค่นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่าเมื่อเวลา 03.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงนามในเอกสารเรื่องการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ความว่า ตามสถานการณ์ที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองหลายกลุ่ม ได้ทำการชุมนุมประท้วงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตปริมณฑล ตลอดจนพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ และมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีสร้างสถานการณ์ความรุนแรง ด้วยการใช้อาวุธสงครามต่อประชาชน และสถานที่สำคัญอย่างกว้างขวาง เป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บและเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดเหตุการณ์จลาจล และความไม่สงบเรียบร้อยอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ อันกระทบต่อความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวมนั้น

เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนำความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็ว จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒ และมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗ ประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เวลา ๐๓.๐๐ เป็นต้นไป





อนึ่ง สำหรับการประกาศกฎอัยการศึก เป็นไปตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ซึ่งได้ตราขึ้นไว้สำหรับประกาศใช้เมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เช่น ในกรณีเกิดสงคราม การจลาจล โดยมีการกำหนดเขตพื้นที่ที่จะใช้บังคับ และเมื่อจะยกเลิกการบังคับใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ใดจะต้องประกาศออกมาเป็นพระบรมราชโองการ

ผู้มีอำนาจประกาศกฎอัยการศึกนั้น พ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ มาตรา 4 ระบุว่า "เมื่อมีสงครามหรือจลาจลขึ้น ณ แห่งใดให้ผู้บังคับบัญชาทหาร ณ ที่นั้น ซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใด ๆ ของทหารมีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก เฉพาะในเขตอำนาจหน้าที่ของกองทหารนั้นได้ แต่จะต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบโดยเร็วที่สุด"

อำนาจทหารเมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก ตามมาตรา 6 ระบุว่า "ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยและเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร"

เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจ ตามมาตรา 8 "เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด, เมืองใด, มณฑลใด, เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น, ที่จะเกณฑ์, ที่จะห้าม, ที่จะยึด, ที่จะเข้าอาศัย, ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่, และที่จะขับไล่"

การตรวจค้น (มาตรา 9)
การตรวจค้นนั้น ให้มีอำนาจที่จะตรวจค้น ดังต่อไปนี้
(1) ที่จะตรวจ ค้น บรรดาสิ่งซึ่งจะเกณฑ์ หรือต้องห้าม หรือต้องยึด หรือจะต้อง เข้าอาศัย หรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งมีอำนาจที่จะตรวจค้นได้ไม่ว่าที่ตัวบุคคล ในยานพาหนะ เคหะสถาน สิ่งปลูกสร้าง หรือที่ใด ๆ และไม่ว่าเวลาใด ๆ ทั้งสิ้น
(2) ที่จะตรวจข่าวสาร จดหมาย โทรเลข หีบ ห่อ หรือสิ่งอื่นใดที่ส่งหรือมีไปมาถึงกัน ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก
(3) ที่จะตรวจหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพโฆษณา บทหรือคำประพันธ์

การเกณฑ์ (มาตรา 10)
การเกณฑ์นั้นให้มีอำนาจที่จะเกณฑ์ได้ดังนี้
(1) ที่จะเกณฑ์พลเมืองให้ช่วยกำลังทหารในกิจการ ซึ่งเนื่องในการป้องกันพระราชอาณาจักร หรือช่วยเหลือเกื้อหนุนราชการทหารทุกอย่างทุกประการ
(2) ที่จะเกณฑ์ยวดยาน, สัตว์พาหนะ, เสบียงอาหาร, เครื่องศาตราวุธ, และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ จากบุคคลหรือบริษัทใด ๆ ซึ่งราชการทหารจะต้องใช้เป็นกำลังในเวลานั้นทุกอย่าง

การห้าม(มาตรา 11)
การห้ามนั้น ให้มีอำนาจที่จะห้ามได้ดังนี้
(1) ที่จะห้ามมั่วสุมประชุมกัน
(2) ที่จะห้ามออก จำหน่าย จ่ายหรือแจก ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพบทหรือคำประพันธ์
(3) ที่จะห้ามโฆษณา แสดงมหรสพ รับหรือส่งซึ่งวิทยุ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์
(4) ที่จะห้ามใช้ทางสาธารณะเพื่อการจราจรไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ รวมถึงทางรถไฟและทางรถรางที่มีรถเดินด้วย
(5) ที่จะห้ามมีหรือใช้เครื่องมือสื่อสารหรืออาวุธ เครื่องอุปกรณ์ของอาวุธ และเคมีภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใดที่มีคุณสมบัติทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สิน หรือที่อาจนำไปใช้ทำเป็นเคมีภัณฑ์ หรือสิ่งอื่นใดที่มีคุณสมบัติดังกล่าวได้
(6) ที่จะห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถานภายในระหว่างระยะเวลาที่กำหนด
(7) ที่จะห้ามบุคคลเข้าไปหรืออาศัยอยู่ในเขตท้องที่ใดซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยและเมื่อได้ประกาศห้ามเมื่อใดแล้ว ให้ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตนั้นออกไปจากเขตนั้นภายในกำหนดเวลาที่ได้ประกาศกำหนด
(8) ที่จะห้ามบุคคลกระทำหรือมีซึ่งกิจการหรือสิ่งอื่นใดได้ตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้กำหนดไว้ว่าควรต้องห้ามในเวลาที่ได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก

การยึด(มาตรา 12)
บรรดาสิ่งซึ่งกล่าวไว้ ในมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ นั้น ถ้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นเป็นการจำเป็น จะยึดไว้ชั่วคราวเพื่อมิให้เป็นประโยชน์แก่ราชศัตรู หรือเพื่อเป็นประโยชน์แก่ราชการทหาร ก็มีอำนาจยึดได้

การเข้าอาศัย(มาตรา 13)
อำนาจการเข้าพักอาศัยนั้น คือ ที่อาศัยใด ๆ ซึ่งราชการทหารเห็นจำเป็นจะใช้เป็นประโยชน์ในราชการทหารแล้ว มีอำนาจอาศัยได้ทุกแห่ง

การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ (มาตรา 14)
การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่นั้น ให้มีอำนาจกระทำได้ดังนี้
(1) ถ้าแม้การสงครามหรือรบสู้เป็นรองราชศัตรู มีอำนาจที่จะเผาบ้าน และสิ่งซึ่งเห็นว่าจะเป็นกำลังแก่ราชศัตรู เมื่อกรมกองทหารถอยไปแล้ว หรือถ้าแม้ว่าสิ่งใด ๆ อยู่ในที่ซึ่งกีดกับการสู้รบก็ทำลายได้ทั้งสิ้น
(2) มีอำนาจที่จะสร้างที่มั่น หรือดัดแปลงภูมิประเทศหรือหมู่บ้าน เมือง สำหรับการต่อสู้ราชศัตรู หรือเตรียมการป้องกันรักษา ตามความเห็นชอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ทุกอย่าง

การขับไล่ (มาตรา 15)
ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งไม่มีภูมิลำเนาอาศัยเป็นหลักฐาน หรือเป็นผู้มาอาศัยในตำบลนั้นชั่วคราว เมื่อมีความสงสัยอย่างหนึ่งอย่างใดหรือจำเป็นแล้ว มีอำนาจที่จะขับไล่ผู้นั้นให้ออกไปจากเมืองหรือตำบลนั้นได้
มาตรา 15 ทวิ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลนั้นไว้เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารได้ แต่ต้องกักไว้ไม่เกินกว่า 7 วัน

ร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้ (มาตรา 16)
ความเสียหายซึ่งอาจบังเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ในเรื่องอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในมาตรา 8 และมาตรา 15 บุคคลหรือบริษัทใด ๆ จะร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้เลย เพราะอำนาจทั้งปวงที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ปฏิบัติและดำเนินการตามกฎอัยการศึกนี้ เป็นการสำหรับป้องกันพระมหากษัตริย์ ชาติ ศาสนา ด้วยกำลังทหารให้ดำรงคงอยู่ในความเจริญรุ่งเรืองเป็นอิสรภาพ และสงบเรียบร้อยปราศจากราชศัตรูภายนอกและภายใน

จากเว็บ manager


หวังว่าจะทำเพื่อบ้านเมืองและประชาชนนะครับ