http://www.isranews....s/16416-6-.html
หมายเหตุ-“เหตุการณ์บริเวณวัดปทุมวนาราม ” (อยู่ในหัวข้อ ๒.๓.๑๒) ส่วนหนึ่งของรายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีการแถลงอย่างเป็นทางการเมื่อบ่ายวันที่ 17 กันยายน 2555
การนำข้อเท็จจริงของรายงานส่วนนี้มานำเสนอแยกต่างหากเพื่อหาคำตอบว่า 6 ยิงตายที่วัดปทุมวนาราม เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ทหาร? อะไรเป็นเหตุจูงใจ? และชายชุดดำเกี่ยวข้องในเหตุการณ์นี้หรือไม่?
เหตุการณ์บริเวณวัดปทุมวนาราม วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓
๒.๓.๑๒.๑ ใน วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ศอฉ. ยอมประกาศให้วัดปทุมวนารามเป็นเขตอภัยทานตามที่กลุ่มองค์กรสันติวิธีเรียก ร้อง และได้มีการขึ้นป้าย “เขตอภัยทาน” ในวัดปทุมวนาราม จุดประสงค์หลักคือเพื่อใช้เป็นสถานที่พักและให้ความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุมที่ เป็นเด็ก สตรีและผู้สูงอายุ โดยผู้ชุมนุมบางส่วนได้เข้าไปใช้พื้นที่ภายในวัดปทุมวนารามระหว่างการชุมนุม และก่อนวันที่ ๑๙ พฤษภาคมแล้ว โดยในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม มีผู้พบเห็นชายฉกรรจ์ แต่งกายในชุดสีดำและลายพรางจำนวนหนึ่งอยู่ภายในวัดปทุมวนารามด้วย[1]
๒.๓.๑๒.๒ ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม หลังจากแกนนำ นปช.ประกาศยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ ๑๓.๒๐ น. บริเวณเวทีแยกราชประสงค์เต็มไปด้วยความโกลาหล ทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนราว ๔,๐๐๐ คนได้ทยอยเข้าไปใช้พื้นที่ภายในวัดปทุมวนารามเป็นที่หลบภัย
ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ ๑๕.๓๐ น. ขณะเจ้าหน้าที่หน่วยรบพิเศษเคลื่อนกำลังทางภาคพื้นดินจากแยกปทุมวันไปโรง หนังสยามเพื่อช่วยคุ้มกันและอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงซึ่ง เพลิงกำลังไหม้โรงหนังสยาม เกิดการยิงปะทะกับคนชุดดำจำนวนสองคนบริเวณแยกเฉลิมเผ่า[2]
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวจึงได้ถอยกลับไปวางกำลังที่สถานีรถไฟฟ้า สนามกีฬาแห่งชาติ ต่อมาเวลาประมาณ ๑๗.๓๐ น. จึงได้รับคำสั่งให้เคลื่อนกำลังมาบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยามอีกครั้ง โดยมีกำลังเพิ่มเติมและได้เข้าควบคุมพื้นที่ชานชาลาทั้ง ๒ ชั้นของสถานีรถไฟฟ้า บีทีเอสสยาม
ก่อนเวลาดังกล่าวอันเป็น เวลาประมาณ ๑๕.๓๐ น. เจ้าหน้าที่ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานนายหนึ่งได้เห็น การ์ดผู้ชุมนุมสองคนถือวัตถุชนิดหนึ่งโดยมีผ้าพันไว้ ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นอาวุธปืนยาว เดินบนทางเท้าถนนอังรีดูนังต์ด้านกองพิสูจน์หลักฐาน เมื่อถึงแยกเฉลิมเผ่าได้เลี้ยวขวาไปทางกลุ่มผู้ชุมนุม และจากปากคำของนายตำรวจสันติบาลให้ข้อมูลว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ขณะที่ตนนั่งรถยนต์ผ่านสยามสแควร์มาถนนอังรีดูนังต์ ขณะที่จะเข้าประตูสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรงข้ามกับร้านโคคาสุกี้ ได้ถูกคนร้ายยิงไล่หลังมาจากแยกเฉลิมเผ่า โดยพื้นที่ดังกล่าวกลุ่มผู้ชุมนุมได้ตั้งเครื่องกีดขวางถนนอังรีดูนังต์จากฝั่งร้านโคคาสุกี้ข้ามถนนไปยังหน้ากองบัญชาการสอบสวนกลาง
๒.๓.๑๒.๓ ช่วงเวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น. มีเจ้าหน้าที่ทหาร ๗ คน วางกำลังอยู่บนรางรถไฟฟ้าชั้น ๑ ด้านหน้าวัดปทุมวนาราม และบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม ๕ นาย ทุกนายถืออาวุธปืนเอ็ม ๑๖ กระสุนจริง พบว่า เจ้าหน้าที่ทหารเล็งและยิงลงไปในทิศทางวัดปทุมวนาราม จากการตรวจพื้นที่ของเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษบนรางรถไฟฟ้าชั้น ๑ บริเวณเดียวกันพบปลอกกระสุนปืนขนาด .๒๒๓ (๕.๕๖) จำนวน ๒ ปลอกยิงมาจากปืนกระบอกเดียวกันและพบกระสุนชนิดเดียวกันอีกหนึ่งนัด
นอกจากนี้ พระวัดปทุมวนารามชั้นผู้ใหญ่รูปหนึ่งแจ้งว่า เห็นเจ้าหน้าที่ทหารอยู่บนรางรถไฟฟ้าหลายคนและในช่วงค่ำได้ยินเสียงปืนดัง ขึ้นบริเวณหน้าวัดจำนวนมาก และยังแจ้งว่า มีการ์ดผู้ชุมนุม ประมาณ ๗ คนขอเข้ามาซ่อนตัวอยู่ในกุฏิและฝากถุงเงินถุงใหญ่ไว้ด้วย[3] ซึ่งต่อมาได้มารับคืนไป
๒.๓.๑๒.๔ พบรอยกระสุนจำนวนมากบนพื้นถนนบริเวณประตูทางออกและประตูทางเข้าวัด เสากั้น (รั้ว) ริมถนนพระราม ๑ และด้านนอกของกำแพงวัดปทุมวนาราม โดยมีทิศทางการยิงมาจากรางรถไฟฟ้าด้านหน้าวัดปทุมวนาราม และรอยกระสุนบนผนังด้านหลังศาลาสินธุเสก โดยมีทิศทางการยิงมาจากบริเวณสะพานลอยตรงแยกเฉลิมเผ่า[4] ซึ่งเป็นบริเวณที่มีเจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติการอยู่ โดยมีความเป็นไปได้สูงว่าเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บบริเวณ วัดปทุมวนาราม นอกจากนี้ ยังพบกระจกอาคารภายในวัด และรถที่จอดภายในวัดได้รับความเสียหายจากกระสุนปืน
๒.๓.๑๒.๕ เหตุการณ์ความรุนแรงบริเวณวัดปทุมวนารามในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๖ คน โดยถูกยิงบริเวณหน้าประตูทางออกวัดปทุมวนาราม ๑ คน คือนายอัฐชัย ชุมจันทร์ ที่เหลือถูกยิงภายในวัดปทุมวนาราม ๕ คน ในจำนวนนี้ ๒ คนเป็นอาสาสมัครหน่วยพยาบาลคือ นางสาวกมลเกด อัคฮาด และนายอัครเดช ขันแก้วโดย น่าจะถูกยิงบริเวณเต็นท์พยาบาลในวัด บริเวณประตูทางออกขณะเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ และอีก ๑ คน เป็นอาสาสมัครหน่วยกู้ภัยถูกยิงขณะเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ คือ นายมงคล เข็มทอง ทั้งหมดเสียชีวิตจากการถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูง โดยมีลำดับการเสียชีวิตดังต่อไปนี้
๑) นายสุวัน ศรีรักษา เสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืนบริเวณไหล่ซ้ายด้านหน้า ขนาด ๐.๗ x ๐.๕ ต่ำจากบ่า ๕ ซม. แผลทะลุปอด หัวใจ ตับ และซี่โครง พบชิ้นส่วนโลหะคล้ายหัวกระสุนปืนหุ้มทองแดง ๑ ชิ้นค้างอยู่ที่กล้ามเนื้อชายโครงด้านขวา เป็นเศษกระสุนปืนเล็กกลขนาด ๕.๕๖ ทิศจากซ้ายไปขวา บนลงล่าง และหลังไปหน้าเล็กน้อย โดยถูกยิงที่บริเวณหน้าห้องน้ำที่กุฏิวัฒนา-ปราณี ด้านหลังศาลาสินธุเศกติดกับกำแพงวัดด้านห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน
นอก จากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองพิสูจน์หลังฐานกลางได้พบเขม่าปืนบนมือของนายสุวัน อย่างไรก็ตามยอมรับว่าเขม่าที่ตรวจพบอาจเกิดจากการปนเปื้อนภายหลังได้เนื่อง จากไม่ได้ไปเก็บตัวอย่างเขม่าจากจุดที่เกิดเหตุ
ส่วนสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ซึ่งได้ตรวจศพบริเวณจุดเกิดเหตุทันทีในวันรุ่ง ขึ้นยืนยันว่าไม่พบเขม่าปืน นอกจากนี้ยังพบรอบเลือดบริเวณใต้ต้นไม้ด้านหลังศาลาสินธุเสกในจุดที่เจ้า หน้าที่ทหารให้ปากคำว่า มีคนชุดดำอยู่บนต้นไม้กำลังยิงปืนใส่เจ้าหน้าที่ทหารจึงยิงปืนตอบโต้กลับไป ทั้งจากการสัมภาษณ์และตรวจสถานที่เกิดเหตุกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่คน หนึ่งซึ่งได้เข้าไปในวัดปทุมวนารามเมื่อเช้ามืดของวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ให้ข้อมูลว่า พบปลอกกระสุนปืนเอ็ม ๑๖ จำนวนหนึ่งตกอยู่ริมรั้วด้านในวัดบริเวณหน้าศาลาสินธุเสกและพบปืนเอ็ม ๑๖ ถูกซ่อนไว้ในบริเวณใกล้เคียง[5]
๒) นายอัฐชัย ชุมจันทร์ เสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืนทะลุบริเวณหลังด้านซ้าย ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕ ซม. ต่ำจากบ่า ๗ ซม. ห่างจากแนวกลางตัว ๔ ซม. ทะลุบริเวณทรวงอกด้านซ้ายส่วนบน ขนาด ๓.๔ x ๒.๓ กระสุนปืนทำลายปอด ทิศทางจากหลักไปหน้า แนวตรง แนวระดับ โดยถูกยิงที่บริเวณประตูทางออกด้านนอกวัด
๓) นายมงคล เข็มทอง เสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืนทะลุบริเวณทรวงอกด้านซ้าย ขนาด ๓.๒ x ๑ ซม. พบเศษทองแดงในเสื้อ เศษตะกั่วเล็ก ๆ ในหัวใจและปอด เป็นเศษกระสุนปืนเล็กกลขนาด ๕.๕๖ มม. โดยมีทิศทางจากซ้ายไปขวา หน้าไปหลัง และบนลงล่าง กระสุนปืนทำลายปอด หัวใจ และตับ โดยถูกยิงขณะเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บบริเวณประตูทางออกของวัด
๔) นายรพ สุขสถิตย์ เสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนทะลุบริเวณทรวงอกด้านขวา ขนาด ๓.๕ x ๒. มม. ต่ำจากบ่า ๒๑ ซม. พบเศษทองแดง ๒ ชิ้นบริเวณขั้วยึดลำไส้ เป็นเศษกระสุนปืนเล็กกลขนาด ๕.๕๖ มม. ทิศทางจากขวาไปซ้าย หน้าไปหลัง บนลงล่าง กระสุนปืนทำลายปอดและตับ ถูกยิงบริเวณประตูทางออก นอกจาก นี้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองพิสูจน์หลังฐานยังพบเขม่าปืนบนมือของนายรพ อย่างไรก็ตามยอมรับว่าเขม่าที่ตรวจพบอาจเกิดจากการปนเปื้อนภายหลังได้เนื่อง จากไม่ได้ไปเก็บตัวอย่างเขม่าจากจุดที่เกิดเหตุ ส่วนสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ซึ่งได้ตรวจศพบริเวณจุดเกิดเหตุทันทีในวันรุ่งขึ้น ยืนยันว่าไม่พบเขม่าปืน
๕) นางสาวกมลเกด อัคฮาด เสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืนบริเวณหลังด้านขวา ต่ำจากบ่า ๑๒ ซม. ห่างจากกึ่งกลาง ๑๐ ซม. ทะลุกล้ามเนื้อด้านหลังขวาขึ้นมาด้านบน ทะลุผ่านฐานกะโหลกซีกซ้าย ทะลุสมองน้อยและสมองใหญ่ซีกซ้าย พบชิ้นส่วนโลหะค้างอยู่ในกะโหลกด้านหน้าขวา เป็นเศษกระสุนปืนเล็กกลขนาด ๕.๕๖ มม. ทิศทางจากล่างขึ้นบน จากหลังไปหน้า และขวาไปซ้าย กระสุนปืนทำลายสมอง ถูกยิงบริเวณเต็นพยาบาลใกล้ประตูทางออก
๖) นายอัครเดช ขันแก้ว เสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืน บาดแผลฉีกขาดบริเวณไหล่ขวาขนาด ๔.๕ x ๓ ซม. ทะลุเข้าในช่องปากบริเวณใบหน้าด้านขวาใต้หู เป็นเหตุให้เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก เนื้อสมองช้ำจากการถูกแรงกระแทก พบเศษตะกั่วในช่องปากและฐานกะโหลกศีรษะ และเศษรองกระสุนปืนทองแดงและตะกั่วบริเวณกระดูกก้นกบจากบาดแผลผิวหนังทะลุ บริเวณก้น เศษกระสุนเสียสภาพมากไม่สามารถยืนยันขนาดและชนิดได้ ถูกยิงบริเวณเต็นท์พยาบาลใกล้ประตูทางออก
ภาพ ที่ ๑๙ แผนที่โดยโดยสังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุในวัดปทุมวนาราม ระบุบริเวณผู้เสียชีวิตถูกยิง จุดสีแดงคือผู้เสียชีวิตที่เป็นพลเรือนและจุดสีขาวคือผู้เสียชีวิตที่เป็น อาสาสมัครพยาบาล/หน่วยกู้ชีพ อ้างอิงจากข้อมูลในสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพ
๒.๓.๑๒.๖ จุดที่สันนิษฐานว่าผู้เสียชีวิตถูกยิงทั้งบริเวณประตูทางออกและด้านหลังศาลา สินธุเศก เป็นจุดที่สามารถยิงจากบริเวณที่ทหารปรากฏตัวอยู่บนรางรถไฟฟ้าได้ แต่มีข้อสังเกตว่า ช่วงเวลาเกิดเหตุนั้นเป็น เวลาหลัง ๑๘.๐๐ น.[6] และในจุดเกิดเหตุมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุมอยู่ โดยเจ้าหน้าที่ทหารให้ข้อเท็จจริงว่ามีการยิงตอบโต้กันกับคนชุดดำในวัด
๒.๓.๑๒.๗ พบรอยแตกกระเทาะคล้ายรอยกระสุนปืนที่ผนังคอนกรีตและใต้คานรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ด้านหน้าวัดปทุมวนาราม จำนวน ๔ รอย โดยมีทิศทางการยิงขึ้นไปจากพื้นด้านหน้าหรือในวัดปทุมวนาราม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานกลางแจ้งว่าไม่ได้ตรวจสอบว่าเป็น รอยกระสุนปืนหรือไม่เนื่องจากอยู่สูงไม่สามารถขึ้นไปตรวจได้ ซึ่งหากเป็นรอยกระสุนจริงก็มีความเป็นได้ว่ามีการยิงมาจากด้านวัดปทุมวนารามไปยังกำแพงรางรถไฟ้ฟ้าซึ่งมีทหารอยู่
๒.๓.๑๒.๘ เจ้าหน้าที่ทหารให้ข้อมูลว่า เวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น. บริเวณแยกเฉลิมเผ่า พบคนชุดดำถือปืนเอ็ม ๑๖ ยิงใส่เจ้าหน้าที่แล้ววิ่งไปทางวัดปทุมวนารามโดยวิ่งเลียบไปตามกำแพงวัด และปรากฎภาพวีดิโอบันทึกเหตุการณ์ขณะเจ้าหน้าที่ทหารเคลื่อนกำลังไปบนถนนพระ รามที่ ๑ บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยาม ฝั่งสยามเซ็นเตอร์ โดยในวีดิโอเจ้าหน้าที่ทหารพูดว่า พบผู้มีอาวุธอยู่บริเวณเสาตอม่อรถไฟฟ้า สั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารคุ้มกัน เจ้าหน้าที่ทหารบางคนยิง ปลย.และแก๊สน้ำตา และมีเสียงปืนดังอยู่กว่า ๑๐ นาทีในภาพวีดิโอ[7]
นอก จากนี้ยังพบรอยกระสุนปืนบนทางเดิน SkyWalk และตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอส ตรงแยกเฉลิมเผ่า ซึ่งเป็นบริเวณที่มีผู้พบเห็นว่ามีคนชุดดำอยู่ โดยมีทิศทางการยิงมาจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยาม[8] ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ และพบร่องรอยกระสุนปืนที่สถานีรถไฟพ้า บีทีเอส สถานีสยาม ชั้นที่ ๑ ที่มีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ ประมาณ ๘ รอย โดยมีทิศทางการยิงมาจากด้านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติบริเวณแยกเฉลิมเผ่า[9] แสดงว่ามีการยิงตอบโต้กันระหว่างเจ้าหน้าที่กับคนชุดดำจริง
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังแจ้งว่าในตอนเช้ามืดของวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ตนได้ไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุพบรอยเลือดของบุคคล ๒ คน บริเวณแยกเฉลิมเผ่าถูกลากเป็นทางยาวไปตรงจุดก่อนถึงประตูทางเข้าของวัดปทุม วนาราม[10] ซึ่งสอดคล้องกับการตรวจสอบจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่ตรวจพบรอยเลือดบริเวณแยกเฉลิมเผ่าเช่นกัน
๒.๓.๑๒.๙ ก่อนหน้าปฏิบัติการการกระชับพื้นที่ของ ศอฉ.ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม มีผู้พบชายฉกรรจ์อยู่ในวัดปทุมวนารามและยังพบชายซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นหัวหน้าคนหนึ่งของการ์ด นปช.[11] ในวัดด้วย นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งที่ได้พบกับผู้สื่อข่าวสตรีชาวจีน จำนวน ๓ คน ที่ขอให้ตนช่วยพาออกมาจากวัดปทุมวนารามในวันที่ ๑๘ พฤษภาคมว่า ที่ไม่ประสงค์จะอยู่ต่อไปในวัดปทุมวนารามเพราะกลัว เนื่องจากเห็นว่ามีอาวุธอยู่ในวัด[12]
๒.๓.๑๒.๑๐ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจที่เกิดเหตุพบปืน เอ็ม ๑๖ จำนวน ๑ กระบอก ใต้รถกอล์ฟภายในวัดจอดอยู่บริเวณศาลาสินธุเสกใกล้กำแพงหน้าวัด ตรวจสอบแล้วพบว่าปืนเอ็ม ๑๖ กระบอกนี้เป็นปืนที่ผู้ชุมนุมยึดไปจากเจ้าหน้าที่ทหารบริเวณสามเหลี่ยมดิน แดงเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม[13]
ในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม เจ้าหน้าที่ทหารร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการตรวจค้นพื้นที่และอาคารภายในวัด ปทุมวนาราม พบปืนพกไทยประดิษฐ์ จำนวน ๑ กระบอก กระสุนปืน ๗.๖๒ มม. จำนวน ๓๐๐ นัด แก๊สน้ำตา จำนวน ๒ ลูก ประทัดยักษ์และระเบิดปิงปองจำนวนหนึ่ง[14]
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังตรวจพบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนหลายรายการซุก ซ่อนอยู่ภายในสวนป่า วัดปทุมวนาราม เช่น ปืนเอ็ม ๑๖ จำนวนหนึ่งกระบอก กระสุนปืนขนาด ๗.๖๒ มม. จำนวน ๒๗๘ นัด ระเบิดขว้างชนิดสังหารจำนวน ๔ ลูก และกระสุนปืน .๒๒๓ (๕.๕๖ มม.) จำนวน ๒๑๒ นัด และกระสุนระเบิดเอ็ม ๗๙ ขนาด ๔๐ มม. จำนวน ๔ นัด[15] โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตรวจพบอาวุธให้ข้อมูลว่าได้รับข้อมูลจากประชาชนคน หนึ่ง จึงเข้าไปตรวจค้นบริเวณสวนป่า พบอาวุธหลายรายการดังกล่าวข้างต้นและบัตรการ์ด นปช.หนึ่งใบโดยอาวุธและสิ่งของดังกล่าวถูกซุกซ่อนอยู่ใต้ฐานพระพุทธรูปขนาด ใหญ่ในสวนป่าภายในวัดปทุมวนาราม[16]
๒.๓.๑๒.๑๑ มีข้อสังเกตว่า ผู้ชุมนุมซึ่งเข้าไปหลบอยู่ภายในวัดปทุมวนารามอยู่ในบรรยากาศแห่งความหวาด กลัวว่าเจ้าหน้าที่ทหารจะเข้ามาปราบปรามและเข่นฆ่าผู้ชุมนุม ในขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารก็มีความหวาดระแวงว่า ภายในวัดปทุมวนารามเป็นที่ซ่องสุมกองกำลังและอาวุธจำนวนมากของคนชุดดำ
ความ หวาดกลัวและความหวาดระแวงดังกล่าว ทำให้หน่วยแพทย์-พยาบาลมีความยากลำบากในการลำเลียงและเข้าไปรับผู้ได้รับบาด เจ็บออกจากวัดปทุมวนาราม ประกอบกับเวลาเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนและบริเวณดังกล่าวอยู่ในความมืดเนื่อง จากไฟฟ้าถูกตัด
ผู้แทนหน่วยแพทย์ซึ่งเข้าให้การช่วยเหลือลำเลียงผู้บาดเจ็บออกจากวัดปทุม วนารามในคืนวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ให้ข้อมูลว่า “การเข้าพื้นที่วัดปทุม ในวันที่ ๑๙ ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ว่ามีคนบาดเจ็บค้างอยู่ แต่เมื่อเช็คพบว่าเป็นความจริง ผู้ชุมนุมมีความหวาดกลัวว่าต้องฆ่าทั้งหมด ผู้ชุมนุมได้รับข้อมูลว่าต้องฆ่าพันสองพันคนให้เข็ด…ในการเข้าไปรับคนเจ็บ ตอนแรกก็ระแวง ทหารบอกว่าในวัดมีอาวุธจำนวนมาก หากเข้าไปอาจโดนลูกหลง หรือโดนจับตัวเป็นประกัน ขอไม่ให้เข้าไป แต่สุดท้ายเคลียร์กันได้ว่าต้องรีบเอาคนเจ็บออกมา สุดท้ายได้รับอนุญาตให้เข้าไปรับที่ประตูวัด ดึกและมืดสนิท ไม่มีใครกล้าขนคนมาประตู ขอให้เข้าไปในวัด แต่ทหารก็กลัวว่าจะถูกจับตัว สุดท้ายมีการแบกออกมาได้”[17]
[1] อาสาสมัครผู้ประสานงานอิสระเพื่อมนุษยธรรมและนักกิจกรรมด้านสันติวิธีซึ่ง ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในบริเวณวัดปทุมวนาราม, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๒ พฤษจิกายน ๒๕๕๓
[2] เอกสาร powerpoint ชื่อไฟล์ “การปฎิบัติการของเจ้าหน้าที่ในวันเกิดเหตุจากบรรยาย คอป๒ จากหน่วยรบพิเศษ”, ประชุม Hearing ครั้งที่ ๙ “กรณีการเสียชีวิต ๖ ศพ ที่วัดปทุมวนารามฯ” เมื่อวันอังคาร ที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๔
[3] สัมภาษณ์พระ เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕ โดยอนุกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริง
[4] รายงานการตรวจสถานทีเกิดเหตุที่ CSI-S-5305 – 126, กลุ่มงานตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ, สำนักตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ, สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
[5]สัมภาษณ์และลงพื้นที่วัดปทุมวนารามกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลชั้นผู้ใหญ่, วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕
[6] วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ พระอาทิตย์ตกเวลาประมาณ ๑๘.๓๘ น.
[7] ภาพวีดิโอ ชื่อไฟล์ 20100519 footage assult 2 นาทีที่ ๒๗ – ๔๐
[8] รายงานที่ ๑๒๐๗ (๑๒๐๙/๒๕๕๓) กลุ่มงานตรวจอาวุธปืนและครื่องกระสุน กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, หน้า ๙ และประชุมกับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๕
[9] รายงานที่ ๑๒๐๗ (๑๒๐๙/๒๕๕๓) กลุ่มงานตรวจอาวุธปืนและครื่องกระสุน กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, หน้า ๙ และประชุมกับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๕
[10] เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลชั้นผู้ใหญ่, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕
[11] นักกิจกรรมด้านสันติวิธี, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๒ พฤษจิกายน ๒๕๕๓ และนักวิชาการและนักกิจกรรมด้านสันติวิธี, เข้าให้ข้อมูลเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๕ และสัมภาษณ์เพิ่มเติมทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๕ ให้ข้อมูลว่าพบชายซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม “จ่ายักษ์” ซึ่งเป็นหัวหน้าอีกคนหนึ่งของกลุ่มการ์ด นปช.
[12] เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลชั้นผู้ใหญ่, สัมภาษณ์วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕
[13] เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลชั้นผู้ใหญ่, สัมภาษณ์วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕
[14] เอกสารชี้แจง คอป. ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๕, หน้า ๒๒๕
[15] สรุปผลการดำเนินการตรวจสถานที่เกิดเหตุและเก็บรวบรวมพยานหลักฐานจาก เหตุการณ์ขอคืนพื้นที่และกระชับพื้นที่วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ และ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓, สถาบันนิติวิทยาศาสตร์, หน้า ๔ ระบุว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๓, และบันทึกข้อความที่ ยธ ๑๐๐๙/๑๓๘๕, สรุปผล
การดำเนินกำรตรวจสถานที่เกิดเหตุและเก็บรวบรวม พยานหลักฐานจากเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่และกระชับพื้นที่ วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ และวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ โดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์, หน้า ๔ ไม่ระบุวันที่ตรวจพบ
[16] เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลชั้นผู้ใหญ่, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕, ศอฉ.เล็งชงครม.เคาะกม.ฉุกเฉิน-ผงะตรวจใต้ฐานพระวัดปทุมฯพบอาวุธอื้อซ่า , มติชน, ๒๑ กันยายน ๒๕๕๓http://www.matichon....073176&grpid=03
[17] การประชุมกลุ่มย่อย บทบาทและการคุ้มครองหน่วยแพทย์ – พยาบาล และหน่วยบรรเทาสาธารณภัย วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๕
ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก : http://news.voicetv....land/10588.html
Edited by คนกรุงธน, 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 - 20:35.