การดำเนินการของฝ่ายไทยในการแก้ไขปัญหาเขตแดนไทย - กัมพูชา
การดำเนินการของฝ่ายไทยในการแก้ไขปัญหาเขตแดนไทย - กัมพูชา โดยที่ประเทศไทยมีนโยบายอย่างชัดเจนและต่อเนื่องที่จะสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนอย่างถาวร อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขของประชาชนของทั้งสองประเทศและเสริมสร้างบรรยากาศความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา (Joint Boundary Commission - JBC) ขึ้นในปี 2540 เพื่อเป็นกลไกหลักในการเจรจาและการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย - กัมพูชา
คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา (Joint Boundary Commission - JBC) 2540
จัดตั้งตามคำแถลงร่วมระหว่างไทยกับกัมพูชา (Joint statement on the Establishment of the Thai - Cambodian Joint Commission on Demarcation for Land Boundary) ฉบับวันที่ 21 มิถุนายน 2540 โดยคณะกรรมาธิการฝ่ายไทยประกอบด้วยผู้แทนจากหลายส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กระทรวง
มหาดไทย และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นต้น
ภูมิหลังการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา (JBC)
ตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปี 2554 มีการจัดการประชุม JBC แล้ว 9 ครั้ง การประชุมครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 7 - 8 เมษายน 2554 ที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย
- การประชุม JBC ครั้งที่ 1 (30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม 2542) ตกลงกันในประเด็นพื้นฐาน เช่น การจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการเทคนิคร่วม และการกำหนดพื้นฐานทางกฎหมายที่จะนำไปใช้ในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ซึ่งได้แก่เอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเขตแดนทางบกระหว่างสยาม - ฝรั่งเศส อาทิ อนุสัญญาปี ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญาปี ค.ศ. 1907 รวมทั้งเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น โดยทั้งสองประเทศหลีกเลี่ยงการกระทำใด ๆ ที่จะเป็นการกระทบต่อเขตแดน และหากมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ทั้งสองฝ่ายจะพยายามแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติ
- การประชุม JBC ครั้งที่ 2 (5 - 7 มิถุนายน 2543) ณ กรุงพนมเปญ ตกลงกันว่าหากมีปัญหาชายแดนที่มีปัจจัยเรื่องเขตแดนประธาน JBC ร่วมทั้งสองฝ่ายจะหารือกันโดยรวดเร็ว และที่ประชุมเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วย การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ประธาน JBC ของทั้งสองฝ่ายคือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับนายวาร์ กิมฮง ที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชารับผิดชอบกิจการชายแดน ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก (Memorandum of Understanding between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Kingdom of Cambodia on the Survey and Demarcation of Land Boundary) หรือ MOU 2543 ทั้งนี้ ฝ่ายไทยเห็นว่าบันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะช่วยลดความขัดแย้งตามแนวชายแดนที่มีอยู่ในปัจจุบันอันอาจเกิดจากความเข้าใจผิดเรื่องแนวเขตแดน และจะเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหาเขตแดน ระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป โดยจะวางกรอบและกลไก ในการปฏิบัติงานบนพื้นฐานของการเคารพเส้นเขตแดนระหว่างประเทศทั้งสองที่ได้จัดทำขึ้นระหว่างสยามกับฝรั่งเศสเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเส้นเขตแดนแต่อย่างใดเพราะทั้งสองฝ่ายไม่ประสงค์ให้มีการได้หรือเสียดินแดน ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในภูมิประเทศเพื่อให้เห็นแนวเขตแดนอย่างชัดเจนเท่านั้น
- การประชุม JBC สมัยวิสามัญ (25 สิงหาคม 2546) ทั้งสองฝ่ายได้รับรองแผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ (TOR 2546) ในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมระหว่างไทย - กัมพูชา เพื่อเป็นแนวทางในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนระหว่างกัน
- การประชุม JBC ครั้งที่ 3 (31 สิงหาคม 2547) ทั้งสองฝ่ายได้รับรองผลการดำเนินงานในสำนักงาน (ตามขั้นตอนที่ 1 ของ TOR 2546 ซึ่งมีทั้งหมด 5 ขั้นตอน (อ่าน TOR ในหัวข้อถัดไป)) เกี่ยวกับการปักหลักเขตแดน ซ่อมแซม และการสร้างทดแทนหลักเขตแดนที่เคยปักไว้แล้ว ทั้ง 73 หลัก รวมทั้งจะส่งชุดสำรวจร่วมไทย - กัมพูชา ลงไปปฏิบัติงานภาคสนามในต้นปี 2547
- การประชุม JBC สมัยวิสามัญ (11 - 15 มีนาคม 2549) ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันให้ชุดสำรวจร่วมเริ่มต้นสำรวจหาที่ตั้งหลักเขตแดนเดิมจำนวน 73 หลัก โดยเริ่มลงพื้นที่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2549 จนถึงปัจจุบัน ชุดสำรวจร่วมได้ดำเนินการสำรวจหาที่ตั้งหลักเขตแดนไปแล้ว 48 หลัก (จากหลักที่ 23 - 70) มีความเห็นตรงกัน จำนวน 33 หลักและมีความเห็นไม่ตรงกัน 15 หลัก
การดำเนินการตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 การประชุม JBC ครั้งต่อ ๆ มา เกิดขึ้นภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 จึงต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 190 วรรคสอง และต้องดำเนินการตามมาตรา 190 วรรคสาม คือ ต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญา นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีต้องเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบก่อนดำเนินการเจรจาด้วย
ต่อมา เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจาในคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภา (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ด้วยคะแนน 406 ต่อ 8 (จาก 418 เสียงของผู้เข้าร่วมประชุม) ตามลำดับ 26
กรอบการเจรจาด้านการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย - กัมพูชา ตลอดแนวในกรอบของ JBC และกลไกอื่น ๆภายใต้กรอบนี้
ให้ JBC ฝ่ายไทยเจรจากับฝ่ายกัมพูชาเพื่อดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชาให้เป็นไปตามเอกสารดังต่อไปนี้
1. อนุสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส แก้ไขข้อบทเพิ่มเติมข้อบทแห่งสนธิสัญญา ฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม ร.ศ. 112 (ค.ศ. 1893) ว่าด้วยดินแดนกับข้อตกลงอื่น ๆ ฉบับลงนาม ณ กรุงปารีสเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 122 (ค.ศ. 1904)
2. สนธิสัญญาระหว่างพระเจ้าแผ่นดินสยามกับประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสฉบับลงนาม ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ. 125 (ค.ศ. 1907) กับพิธีสารว่าด้วยการปักปันเขตแดนแนบท้าย สนธิสัญญา ฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ. 125 (ค.ศ. 1907)
3. แผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลงานการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับ อินโดจีน ที่จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญา ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญา ค.ศ. 1907 กับเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้อนุสัญญา ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญาค.ศ. 1907 ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส
นับตั้งแต่รัฐสภาให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจาดังกล่าว จนถึงเดือนพฤษภาคม 2554 คณะกรรมาธิการร่วมฯ ได้มีการประชุมกันต่อมาอีก 4 ครั้ง ดังนี้ คือ
- การประชุม JBC สมัยวิสามัญ (10 - 12 พฤศจิกายน 2551) ที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา
- การประชุม JBC ครั้งที่ 4 (3 - 4 กุมภาพันธ์ 2552) ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย
- การประชุม JBC สมัยวิสามัญ (6 - 7 เมษายน 2552) ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
- การประชุม JBC (7 - 8 เมษายน 2554) ที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย
การเสนอบันทึกการประชุม JBC 3 ฉบับ4 เพื่อขอรับความเห็นชอบของรัฐสภา
รัฐธรรมนูญมาตรา 190 มีความเกี่ยวข้องอย่างไรต่อการกำหนดเขตแดนไทย - กัมพูชา และเพราะเหตุใด ในเบื้องต้นจึงต้องนำบันทึกการประชุม JBC 3 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ
มาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ระบุว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศ หรือกับองค์การระหว่างประเทศ
หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว
ก่อนดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย
เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม
ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า หรือการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญรวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้รับประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป
ในกรณีที่มีปัญหาตามวรรคสอง ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด โดยให้นำบทบัญญัติตามมาตรา 154 (1) มาใช้บังคับกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม”
โดยที่บันทึกการประชุม JBC อาจมีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตหรือความมั่นคงของสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง กระทรวงการต่างประเทศจึงได้เสนอบันทึกการประชุม JBC 3 ฉบับ เพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ได้แก่ (1) บันทึกการประชุม JBC สมัยวิสามัญ (10 - 12 พฤศจิกายน 2551) (2) บันทึกการประชุม JBC ครั้งที่ 4 (3 - 4 กุมภาพันธ์ 2552) และ (3) บันทึกการประชุม JBC สมัยวิสามัญ (6 - 7 เมษายน 2552) โดยในการประชุมเมื่อวันที่ 6 - 7 เมษายน 2552 ทั้งสองฝ่ายสามารถลงนามบันทึกการประชุมของ 2 ครั้งที่ผ่านมาได้ โดยก่อนหน้านี้มีประเด็นคงค้างที่ตกลงกันไม่ได้ แต่ในครั้งนี้สามารถตกลงกันได้ ทั้งนี้ สาระของบันทึกการประชุม JBC ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว อยู่ในกรอบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ JBC ตามอำนาจหน้าที่
อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นบันทึกการประชุม JBC ทั้ง 3 ฉบับ ที่ทั้งสองฝ่ายลงนามแล้วนี้ ยังไม่มีผลผูกพันจนกว่า ทั้งสองฝ่ายจะยืนยันผ่านช่องทาง29 การทูตว่า ได้มีการดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายภายในครบถ้วน แล้วตามข้อ 19 ของบันทึกการประชุมเมื่อวันที่ 6 - 7 เมษายน 2552 โดยในส่วนของฝ่ายไทยจะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อน จึงจะยืนยันให้บันทึกการประชุมฯ ทั้ง 3 ฉบับนี้มีผลผูกพัน (ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า กรณีดังกล่าวยังไม่ถึงขั้นตอนที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นหนังสือสัญญาหรือไม่ เพราะยังมีขั้นตอนที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องเจรจากันต่อไป (อ่านลำดับเหตุการณ์เสนอบันทึกการประชุม 3 ฉบับ ให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในหน้าถัดไป)
สาระสำคัญในการประชุม JBC ทั้ง 3 ครั้ง มีความคืบหน้าเพิ่มเติมในอีกหลายประเด็น ได้แก่
1. ที่ประชุมยืนยันว่าควรดำเนินการตามขั้นตอนที่ 2 ของแผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ของการสำรวจฯ (TOR 2546 ซึ่งมี5 ขั้นตอน) โดยเร็วที่สุด คือ ให้ผลิตแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศตลอดแนวเขตแดน เพื่อช่วยในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน
2. เห็นชอบว่า ชุดสำรวจร่วมอาจเริ่มการสำรวจพื้นที่ตอนที่ 5 (หลักเขตแดนที่ 1 - 23)
3. ที่ประชุมหารือเรื่องการจัดทำคำแนะนำสำหรับการสำรวจในพื้นที่ตอนที่ 6 (หลักเขตแดนที่ 1 - เขาสัตตะโสม) ซึ่งรวมบริเวณปราสาทพระวิหารด้วย และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปหารือกันในระดับเทคนิคต่อไป
4. ระหว่างรอการจัดทำข้อตกลงชั่วคราวเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทย - กัมพูชา (Provisional Arrangement) บริเวณปราสาทพระวิหารให้แล้วเสร็จ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้เริ่มสำรวจและจัดทำเขตแดนในพื้นที่ตอนที่ 6 ทันทีที่ได้ข้อยุติเกี่ยวกับคำแนะนำสำหรับการสำรวจในพื้นที่ตอนที่ 6
5. เห็นชอบให้มีการประชุม JBC สมัยวิสามัญ เพื่อหารือประเด็นกฎหมายเกี่ยวกับพื้นที่สำรวจตอนที่ 6 เมื่อมีการเริ่มสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในพื้นที่ดังกล่าว
6. รับทราบว่าเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคของทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องกันเกี่ยวกับร่างรายงานร่วมภาษาอังกฤษ ว่าด้วยการสำรวจสภาพและที่ตั้ง 30 ของหลักเขตแดนสำหรับ 29 หลัก (หลักเขตแดนที่ 23 - 51) และตกลงให้เจ้าหน้าที่เทคนิคของทั้งสองฝ่ายร่วมกันตรวจสอบร่างรายงานการสำรวจฯ ทั้งสามภาษาก่อนส่งให้คณะอนุกรรมาธิการเทคนิคร่วม (Joint TechnicalSub - Commission - JTSC) และ JBC พิจารณาและให้ความเห็นชอบต่อไปตามลำดับ (ดูองค์ประกอบของคณะ JTSC ตลอดจนขั้นตอนการปฏิบัติงานตามสายบังคับบัญชาในหัวข้อ TOR 2546)
7. ฝ่ายไทยจะส่งร่างรายงานร่วมภาษาอังกฤษ ว่าด้วยการสำรวจสภาพและที่ตั้งของหลักเขตแดน สำหรับ 19 หลักที่เหลือ(หลักเขตแดนที่ 52 - 70) ให้ฝ่ายกัมพูชาพิจารณาต่อไป
หมายเหตุ : สำหรับการประชุม JBC (7 - 8 เมษายน 2554) ที่เมืองโบกอร์ประเทศอินโดนีเซีย ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมการดำเนินงานในประเด็นต่าง ๆ ในระหว่างที่รอให้บันทึกการประชุมในการประชุม JBC 3 ครั้งที่ผ่านมา ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาไทย อาทิ การเตรียมการดำเนินการสำรวจในบริเวณพื้นที่ตอนที่ 5 การคัดเลือกบริษัทจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ และยังได้หารือเรื่องการดำเนินการสำรวจรายละเอียดในบริเวณที่จะเปิดจุดผ่านแดนถาวร
ลำดับเหตุการณ์การเสนอบันทึกการประชุมฯ 3 ฉบับ ให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ
1. คณะรัฐมนตรีได้เสนอบันทึกการประชุมฯ 3 ฉบับ ให้รัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 190 วรรคสอง เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2552 ต่อมา ในคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบให้ถอนบันทึกการประชุม JBC ไทย - กัมพูชา ทั้ง 3 ฉบับ ออกจากวาระการพิจารณาไปก่อน
2. เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้การเสนอบันทึกการประชุม JBC ทั้ง 3 ฉบับ อีกครั้ง และประธานรัฐสภาได้บรรจุบันทึกการประชุมฯ ในระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 2 (สมัยสามัญทั่วไป) วันที่ 7 พฤษภาคม 2553 แต่รัฐสภายังไม่ได้พิจารณาจนปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไป บันทึกการประชุมฯ ดังกล่าว จึงเป็นอันตกไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 57 ซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลม ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
3. เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการ (ประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน 30 คน) เพื่อพิจารณาศึกษาบันทึกการประชุมฯ ซึ่งมีการประชุมของคณะกรรมาธิการฯ จำนวน 13 ครั้ง โดยกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมชี้แจงในการประชุมทุกครั้ง ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้มีรายงานผลการพิจารณาศึกษาเสนอต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 โดยมีข้อแนะนำที่สำคัญ ได้แก่
3.1 ให้ส่งข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ เกี่ยวกับการที่ประเทศไทยไม่ยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ระวางดงรัก ไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป
3.2 ฝ่ายไทยควรเจรจาให้ฝ่ายกัมพูชานำชุมชน ประชาชนทหาร ออกนอกพื้นที่พิพาท โดยอาจใช้รูปแบบการเจรจาที่แตกต่างจากเดิม อาทิ การพบปะอย่างไม่เป็นทางการ
3.3 ให้คณะรัฐมนตรีกำหนดแนวทางเยียวยาบรรเทาความทุกข์ของประชาชนที่ไม่สามารถเข้าไปทำกินในพื้นที่ที่ตนเองมีเอกสารสิทธิได้
3.4 ให้โต้แย้ง/ท้วงติงในกรณีคำกล่าวปราศรัยของฝ่ายกัมพูชาในการประชุม JBC ที่กล่าวหาว่าฝ่ายไทยรุกล้ำดินแดนหรือทำผิด MOU 2543 ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
4. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2553 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 80 คน ได้ยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภา เพื่อเสนอความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาบันทึกการประชุม JBC ทั้ง 3 ฉบับว่า เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสองหรือไม่ ซึ่งประธานรัฐสภาได้ส่งคำร้องดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554
5. ในการประชุมร่วมของสมาชิกรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 และ 29 มีนาคม 2554 นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้เลื่อนการพิจารณา 32 รับทราบผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการศึกษาบันทึก การประชุม JBC รวม 3 ฉบับ ออกไปอีก เนื่องจากสมาชิกไม่ครบองค์ประชุม
6. ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งที่ 10/2554 ในเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 ว่า “พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ผู้ร้องจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา แต่การที่คณะรัฐมนตรีได้นำบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา รวม 3 ฉบับเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยมีข้อเท็จจริงปรากฏตามคำร้องและเอกสารที่ประธานรัฐสภาส่งต่อศาลว่า คณะผู้แทนทั้งสองฝ่าย
ยังจะต้องเจรจากันต่อไป กรณียังไม่ถึงขั้นตอนที่จะต้องเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด เนื่องจากยังมีขั้นตอนอื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องพิจารณาดำเนินการเสียก่อนในชั้นนี้จึงยังไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคหก (6) ประกอบมาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ที่จะเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด”
7. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 รับทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 10/2554 และให้ถอนบันทึกการประชุมฯทั้ง 3 ฉบับ ออกจากการพิจารณาให้ความเห็นชอบของรัฐสภา และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเจรจาต่อไป และในคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2554 ที่ประชุมฯ ได้มีมติให้ถอนบันทึกการประชุมฯ ทั้ง 3 ฉบับ ออกจากการพิจารณาของรัฐสภา
8. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2554 กระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือแจ้งให้กัมพูชาทราบถึงการมีผลใช้บังคับของบันทึกการประชุมฯ ทั้ง 3 ฉบับ เนื่องจากการดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายภายในของไทยเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งฝ่ายกัมพูชาได้มีหนังสือตอบกลับเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2554 รับทราบการแจ้งของฝ่ายไทย และแจ้งว่า สำหรับกัมพูชา บันทึกการประชุมฯ ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว มีผลใช้บังคับตั้งแต่สิ้นสุดการประชุม เมื่อวันที่ 7 - 8 เมษายน 2552
4.1.4 การเจรจาร่างข้อตกลงชั่วคราว (draft Provisional Arrangement - PA) เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร
ในการประชุม JBC ทั้ง 3 ครั้ง ที่กล่าวมาแล้ว ทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับร่างข้อตกลงชั่วคราว (PA) เกี่ยวกับปัญหาชายแดนไทย - กัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหาร และสามารถตกลงกันได้เป็นส่วนใหญ่ เหลือเพียงประเด็นเดียว คือ การเรียกชื่อปราสาทพระวิหารและเปรียะวิเฮียร์ ซึ่งจะต้องเจรจากันต่อไป รัฐบาลจึงมิได้เสนอร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ นี้เพื่อขอความเห็นชอบของรัฐสภาแต่อย่างใด
กรอบการเจรจาร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ นี้ ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วเช่นกันเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 ดังนี้
1. วัตถุประสงค์ เพื่อมีมาตรการชั่วคราวร่วมกันสำหรับลดความตึงเครียดและลดการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างไทยกับกัมพูชาที่ชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร ระหว่างรอให้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา (Thai - Cambodian Joint Commission on Demarcation for Land Boundary - JBC) สำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในพื้นที่ดังกล่าวแล้วเสร็จ
2. สาระสำคัญ
2.1 ปรับกำลังของแต่ละฝ่ายออกจากวัดแก้วสิขาคีรีสะวาราพื้นที่รอบวัด และปราสาทพระวิหาร เหลือไว้เพียงชุดติดตามสถานการณ์ทหาร (Military Monitoring Groups) ของแต่ละฝ่ายในจำนวนที่เท่ากัน
2.2 จัดการประชุมระหว่างหัวหน้าชุดประสานงานชั่วคราวฝ่ายกัมพูชา (ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2551) กับประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคฝ่ายไทย ครั้งที่ 2 ที่กัมพูชา เพื่อหารือเรื่องการปรับกำลังช่วงที่สอง และให้ฝ่ายไทยจัดตั้งชุดประสานงานชั่วคราว
2.3 เก็บกู้ทุ่นระเบิดในลักษณะที่ประสานงานกัน ในพื้นที่ที่จะทำการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนโดย JBC ตามบันทึกความเข้าใจปี 2543
2.4 ให้ JBC กำหนดพื้นที่ที่จะทำให้อยู่ในสภาพพร้อมสำหรับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนภายใต้แผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ของ JBC และทำให้พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในสภาพพร้อมก่อนที่ชุดสำรวจร่วมจะเริ่มงาน
2.5 จัดตั้งชุดประสานงานชั่วคราวประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย เพื่อพิจารณาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ รวมทั้งวัดแก้วสิขาคีรีสะวารา
2.6 ข้อตกลงชั่วคราวนี้จะไม่กระทบต่อสิทธิของแต่ละฝ่ายเกี่ยวกับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน ในกรอบของ JBC และท่าทีทางกฎหมายของตน
4.2 บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย - กัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ปี 2543 (MOU 2543)
ปัจจุบัน กัมพูชายังคงอ้างเส้นเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 บริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งล้ำดินแดนไทยเข้ามาประมาณ 3,000 ไร่ หรือ 4.6 ตารางกิโลเมตร
ปัญหาเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหารเป็นหนึ่งในปัญหาเขตแดนไทย - กัมพูชา ที่มีอยู่ตลอดแนว ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้ใช้ความอดกลั้นอย่างสูงสุดต่อการละเมิดดินแดนไทยที่มีขึ้น เนื่องจากคำนึงถึงมิตรภาพ ความใกล้ชิดทางวัฒนธรรม แต่กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานในท้องถิ่นได้ประท้วงการละเมิดดังกล่าวทุกครั้ง เพื่อรักษาสิทธิตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศของไทยไว้ระหว่างที่รอการแก้ไขปัญหาเขตแดนโดยกลไกการเจรจาที่มีอยู่
MOU (เอ็มโอยู) คืออะไร
MOU (Memorandum of Understanding - MOU) เป็นบันทึกความเข้าใจ ซึ่งเป็น “agreement to negotiate” (การตกลงว่าจะเจรจากัน) มิใช่ “agreement to agree” (การตกลงว่าจะตกลงกัน) โดยอาจกำหนดพื้นฐานทางกฎหมายที่ผู้ทำบันทึกทั้งสองฝ่ายเข้าใจร่วมกันในการดำเนินความสัมพันธ์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ก่อนเข้าแข่งขันกีฬาจะต้องมีการตกลงกันเสียก่อนว่า กติกาของการแข่งขันคืออะไร ซึ่งเมื่อตกลงกติกากันได้แล้วจะมีการแข่งขันกันจริงหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งกติกาพื้นฐานนี้จะกำหนดขึ้นเพื่อใช้ระหว่างการแข่งขัน หรือสำหรับก่อนและ/หรือหลังการแข่งขันด้วยก็ได้ เช่น กติกาในการเลือกวัน เวลา และสนามแข่ง วิธีการส่ง
ผู้เข้าแข่งขัน อุปกรณ์ที่ใช้แข่งขัน เป็นต้น
สำหรับ MOU ที่เป็นความตกลงระหว่างประเทศนั้น คือ การที่ประเทศสองประเทศตกลงกันในเรื่องความเข้าใจพื้นฐาน หรือกติกาพื้นฐานของการเจรจาหรือการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันให้เข้าใจตรงกัน ก่อนที่จะมีการเข้าเจรจาหรือมีปฏิสัมพันธ์กันจริง ๆ เพื่อให้การเจรจาหรือปฏิสัมพันธ์นั้น ๆ ตั้งอยู่บนพื้นฐานหรือกติกาที่ทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกันแล้ว
กรณี MOU 2543 เป็น บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก (Memorandum of Understanding between the Government of the Kingdom of Thailand and the Kingdom of Cambodia on the Survey and Demarcation of Land Boundary) กำหนดพื้นฐานทางกฎหมายว่า การเจรจาเขตแดนไทย - กัมพูชานั้น จะใช้เอกสารใดในการเจรจา แต่นั่นมิได้หมายความว่า อีกฝ่ายยอมรับว่าเอกสารดังกล่าวผูกพันตนเองแล้ว
แต่อย่างใด
ความเป็นมาของ MOU 2543
ประมาณปี 2537 หลังจากที่ประเทศกัมพูชาสามารถจัดการปัญหาการเมืองภายในและมีการจัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาได้เริ่มเจรจาปัญหาเขตแดนอีกครั้ง เหตุผลหลักที่ประเทศไทยต้องการเจรจาปัญหาเขตแดนกับกัมพูชา คือ
1. หลังจากศาลโลกพิพากษาในปี 2505 ประเด็นปัญหาเรื่องเขตแดนไทย - กัมพูชา ถูกละทิ้งเป็นเวลานานกว่า 30 ปี
2. เหตุการณ์สู้รบระหว่างทหารไทยกับลาว บริเวณบ้านร่มเกล้าชายแดนจังหวัดพิษณุโลก ทำให้รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาเขตแดนและนำไปสู่ความจำเป็นในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน
3. รัฐบาลมีนโยบายไม่ให้เรื่องเขตแดนกลายเป็นประเด็นทางการเมือง แต่เป็นเรื่องของกฎหมายและเรื่องทางเทคนิค
4. รัฐบาลตระหนักถึงความจำเป็นที่จะใช้กฎหมายระหว่างประเทศในการเจรจาเขตแดน
ดังนั้น เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2540 พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและกัมพูชาได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมเพื่อจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมจัดทำหลักเขตแดนสำหรับเขตแดนทางบก (Joint Statement on the Establishment of the Thai - Cambodian Joint Commission on the Demarcation for Land Boundary) ต่อมาในการประชุม คณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งที่ 1 (30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม 2542) ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมฯ ขึ้นและเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมฯ ของทั้งสองฝ่าย คือ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ุ บริพัตร รัฐมนตรี
ช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายวาร์ กิม ฮง ที่ปรึกษารัฐบาลผู้รับผิดชอบกิจการชายแดน ได้ลงนามใน MOU 2543 โดย MOU 2543 ข้อ 1 กำหนดว่า
“[ไทยและกัมพูชา] จะร่วมกันดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชาให้เป็นไปตามเอกสารต่อไปนี้
(ก) อนุสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศสแก้ไขเพิ่มเติมข้อบทแห่งสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 112 (ค.ศ.1893) ว่าด้วยดินแดนกับข้อตกลงอื่น ๆ ฉบับลงนาม ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก 122 (ค.ศ. 1904)
(ข) สนธิสัญญาระหว่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามกับประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ฉบับลงนาม ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 125 (ค.ศ. 1907) กับพิธีสารว่าด้วยการปักปันเขตแดน แนบท้ายสนธิสัญญา ฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 125 (ค.ศ. 1907) และ
(ค) แผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลงานการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีนซึ่งจัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญา ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญา ค.ศ. 1907 กับเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้อนุสัญญา ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญา ค.ศ. 1907 ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส”
ทั้งนี้ MOU 2543 ไม่ใช่การกำหนดเขตแดนแต่เป็น MOU ที่ 2 ฝ่ายตกลงกันเกี่ยวกับขั้นตอนการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน
การที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 เป็นแผนที่ของคณะกรรมการปักปันฯ การอ้างอิงเอกสารดังกล่าว ก็ไม่ได้แสดงว่า ไทย“ยอมรับ” แผนที่หรือเส้นที่ปรากฏในแผนที่เป็นเส้นเขตแดน หากจะถือว่าไทยยอมรับในลักษณะนี้ ก็ต้องถือว่ากัมพูชายอมรับสันปันน้ำตามที่ระบุในอนุสัญญา ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญา ค.ศ. 1907 ในข้อ 1 (ก) และ (ข) ของ MOU 2543 ด้วย ดังนั้น จะต้องมีการเจรจากันต่อไป จนกว่าทั้งสองฝ่ายจะได้ข้อยุติร่วมกัน
4.2.1 ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000
ที่มาของ “แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000”
สนธิสัญญากำหนดเขตแดนไทย - กัมพูชา มี 2 ฉบับ ได้แก่ อนุสัญญาสยาม - ฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญาสยาม - ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 สนธิสัญญาทั้งสองฉบับระบุให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการผสมสยาม - ฝรั่งเศสเพื่อปักปันเขตแดน เพื่อดำเนินการสำรวจภูมิประเทศจริง และได้มีการจัดทำแผนที่แสดงเส้นเขตแดน โดยมีการจัดทำแผนที่ 2 ชุด ได้แก่ แผนที่ชุด Bernard5 (ตามอนุสัญญาฯ ค.ศ. 1904 มี 11 ระวาง) และแผนที่ชุด Montguers (ตามสนธิสัญญา ค.ศ. 1907 มี 5 ระวาง) ซึ่งทั้งหมดเป็นแผนที่จัดทำในมาตราส่วน 1 : 200,000 ดังนั้น เมื่อกล่าวถึง “แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000” จึงหมายรวมถึงแผนที่หลายฉบับ (มิได้หมายถึงแผนที่ระวางดงรักฉบับเดียว) ซึ่งครอบคลุมเขตแดนไทย - ลาว และไทย - กัมพูชา ปัจจุบันทั้งหมด
“แผนที่ระวางดงรัก” ซึ่งเป็นแผนที่ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดและแสดงเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ เป็นเพียง 1 ในแผนที่จำนวน 11 ระวางของแผนที่ชุด Bernard (ปัจจุบันเหลือใช้เพียง 8 ระวาง เนื่องจากเส้นเขตแดน ค.ศ. 1904 ตามแผนที่ชุด Bernard จำนวน 3 ระวาง ถูกยกเลิกโดยเส้นเขตแดนใหม่ตามสนธิสัญญา ค.ศ. 1907)
แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ระวางดงรัก กับคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ปี 2505
ในคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 ศาลฯ ระบุว่า จะไม่ตัดสินว่า เส้นเขตแดนไทย - กัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหารเป็นไปตามแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ระวางดงรัก (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “แผนที่ดงรัก”) หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ศาลฯ จำเป็นต้องทราบว่า เส้นเขตแดนไทย -กัมพูชา อยู่ที่ใดในบริเวณปราสาทพระวิหาร เพื่อใช้เป็นเหตุผลที่จะตัดสินว่า ปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อธิปไตยของประเทศใด6
ลักษณะของคำพิพากษาของศาลฯ แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
(1) ส่วนเหตุผล (reasoning) ซึ่งในหลักการ ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายและ (2) ส่วนบทปฏิบัติการ (operative paragraph) ซึ่งมีผลผูกพันคู่กรณี
ในส่วนเหตุผล ศาลฯ อ้างเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ไทยได้ยอมรับแผนที่ดงรัก ดังต่อไปนี้
(1) ฝ่ายไทยได้ดำเนินการเผยแพร่แผนที่ดงรักอย่างกว้างขวางภายหลังที่ได้รับมาจากฝรั่งเศส และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงขอแผนที่เพิ่มเติมด้วย
(2) ไทยไม่เคยคัดค้านเส้นเขตแดนบนแผนที่ดงรักจนถึง ค.ศ.1958 แม้ว่าจะมีโอกาสหลายครั้ง เช่น การทำงานของคณะกรรมการถอดอักษรสยาม - ฝรั่งเศส ค.ศ. 1909 การสำรวจภูมิประเทศของกรมแผนที่ทหาร ค.ศ. 1934 และต่อมาได้ผลิตแผนที่ที่แสดงเส้นเขตแดนไปตามแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 การเจรจาสนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์ และการเดินเรือ ค.ศ. 1925 และ ค.ศ. 1937 และระหว่างการประชุมหารือของคณะกรรมการประนอมฝรั่งเศส - ไทย ค.ศ. 1947
ในส่วนบทปฏิบัติการ ศาลฯ ระบุว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยกัมพูชา โดยไม่ได้ตัดสินเกี่ยวกับเส้นเขตแดน หรือสถานะของแผนที่ระวางดงรัก
แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 กับแผนที่ L7017/L7018
ประเด็นว่า เมื่อนำแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 มาทาบลงบนแผนที่ L7017/L7018 แล้วจะพบว่า เส้นเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ทำให้ไทยเสียดินแดนเป็นจำนวนมากนั้น มีข้ออธิบาย ดังนี้
1) แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 และแผนที่ L7017/L7018 เป็นแผนที่ที่มีวิธีการจัดทำ (Projection) แตกต่างกัน จึงมีลักษณะแตกต่างกัน
2) L7017/L7018 จัดทำโดยใช้พื้นผิวของรูปทรงกระบอก (Mercator Projection) ซึ่งจะแสดงระยะทางที่ถูกต้อง แต่ขนาดของภูมิประเทศจะคลาดเคลื่อน ในขณะที่แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ซึ่งจัดทำโดยใช้ Sinusoidal Projection (ลักษณะคล้ายหัวหอม) จะแสดงขนาดภูมิประเทศถูกต้อง แต่ระยะทางคลาดเคลื่อน
3) เนื่องด้วยคุณสมบัติที่แตกต่างกันของแผนที่ทั้ง 2 ชุด จึงไม่สามารถนำแผนที่มาทาบกันได้ เพราะขนาดและรูปทรงของภูมิประเทศและเส้นเขตแดนจะแตกต่างกันมาก
4.2.2 การละเมิดข้อตกลงของกัมพูชาและการประท้วงของไทย
MOU 2543 ข้อ 5 กำหนดว่า “เพื่ออำนวยความสะดวกให้การสำรวจตลอดแนวเขตแดนทางบกร่วมกัน เป็นไปอย่างประสิทธิผลหน่วยงานของรัฐบาลกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเหล่านั้น จะงดเว้นการดำเนินการใด ๆ ที่มีผล เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ชายแดน เว้นแต่จะเป็นการดำเนินการของคณะอนุกรรมาธิการ
เทคนิคร่วม เพื่อประโยชน์ในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน”
อย่างไรก็ดี นับแต่มีการจัดทำ MOU 2543 ฝ่ายกัมพูชาได้ละเมิดMOU 2543 ข้อ 5 โดยก่อสร้างรุกล้ำเขตแดนไทยในบางพื้นที่ รวมทั้งก่อสร้างวัด ถนน ตลาด และให้มีประชาชนกัมพูชาอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร นอกจากนี้ ฝ่ายกัมพูชายังได้ดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ในบริเวณพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งถือเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศไทย ฝ่ายไทยจึงได้ดำเนินการประท้วงต่อเรื่องดังกล่าว
ในทางปฏิบัติของไทย การประท้วงจะเริ่มจากหน่วยงานในท้องถิ่น อาทิ หน่วยงานประสานงานชายแดนประจำพื้นที่ และหากหน่วยบังคับบัญชาเห็นว่าควรมีการประท้วงในระดับรัฐบาลก็จะมีหนังสือแจ้งให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการต่อไป ในขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศก็ได้รับแจ้งเรื่องจากหน่วยงานระดับท้องถิ่นเพื่อติดตามสถานการณ์ด้วย
การประท้วงของไทยในระดับรัฐบาล
25 พฤศจิกายน 2547 - ไทยดำเนินการประท้วงชุมชนและการก่อสร้างที่พัก และการบริหารจัดการขยะและน้ำเสีย
8 มีนาคม 2548 - ประท้วงการก่อสร้างและพัฒนาถนนจากบ้านโกมุยขึ้นสู่ปราสาทพระวิหาร
17 พฤษภาคม 2550 - คัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
10 เมษายน 2551 - ประท้วงการขึ้นทะเบียนมรดกโลก การก่อสร้างถนน การก่อสร้างต่าง ๆ ของชุมชนและกรณีกัมพูชาวางกำลังทหารรวมทั้งส่งหน่วยเก็บกู้ระเบิดเข้าดำเนินการในพื้นที่
11 พฤศจิกายน 2551 - ประท้วงกรณีชาวกัมพูชาและเจ้าหน้าที่ยูเนสโกเดินทางผ่านเข้ามาในไทยโดยมิได้ขออนุญาตเพื่อเข้าร่วมพิธีปักธงบริเวณปราสาทพระวิหารและพื้นที่ใกล้เคียง
12 พฤศจิกายน 2551 - ประท้วงการตั้งเสาธงชาติและธงยูเนสโกการก่อสร้างป้ายบริเวณแนวบันไดปราสาทพระวิหาร 13 พฤศจิกายน 2551 - ประท้วงกรณีกัมพูชานำพระสงฆ์ เณร และประชาชนชาวกัมพูชา เข้าร่วมพิธีทอดกฐิน ณ วัดแก้วสิขาคีรีสะวารา
10 มีนาคม 2552 - ประท้วงการก่อสร้างและพัฒนาถนนจากฝั่งกัมพูชาขึ้นสู่ปราสาทพระวิหารถึงบริเวณวัดแก้วสิขาคีรีสะวารา
26 มีนาคม 2552 - ประท้วงการก่อสร้างห้องน้ำและอาคารบริเวณวัดแก้วสิขาคีรีสะวารา
22 กันยายน 2552 - ประท้วงสิ่งปลูกสร้างบริเวณบันไดเชิงปราสาทพระวิหาร
29 ตุลาคม 2552 - ไทยปฏิเสธข้อกล่าวหาของกัมพูชาที่กล่าวว่าทหารไทยเป็นผู้ทำลายตลาดบริเวณปราสาท
9 เมษายน 2553 - ประท้วงการสร้างกุฏิพระที่วัดแก้วสิขาคีรีสะวาราในพื้นที่ใกล้ปราสาทพระวิหาร
4 มีนาคม 2554 - ประท้วงการจัดให้ผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศดูพื้นที่ปราสาทพระวิหารผ่านพื้นที่ที่ไทยอ้างสิทธิ
31 มีนาคม 2554 - ไทยเรียกร้องให้กัมพูชารื้อถอนวัดและปลดธงจากวัดแก้วสิขาคีรีสะวารา
*** การประท้วงของไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศ ถือว่ามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในการรักษาสิทธิและอธิปไตยของประเทศ โดยถึงแม้กัมพูชาจะมีการสร้างถนน ตลาด วัด และชุมชนในพื้นที่ก็ตาม ประเทศไทยเลือกใช้แนวทางการเจรจาซึ่งเป็นการยุติข้อพิพาทโดยสันติวิธีอันเป็นหลักที่ยอมรับในอารยประเทศ ***
4.3 แผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ของการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ปี 2546 (TOR 2546)
Terms of Reference - TOR คือ แผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ที่จัดทำขึ้นตาม MOU 2543 ข้อ 2 และ 3 สำหรับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมฯ (JBC) โดยเฉพาะในกระบวนการทางเทคนิคที่มีความซับซ้อนสูง มี 5 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1 การค้นหาตำแหน่งที่ตั้งของหลักเขตแดนทั้ง 73 หลัก ที่ได้จัดทำไว้ในอดีต โดยเมื่อสามารถตกลงเห็นชอบกับ ตำแหน่งที่ตั้งของหลักเขตแดนแต่ละหลักได้แล้วก็จะซ่อมแซม (ในกรณีที่ชำรุดหรือถูกเคลื่อนย้าย) หรือสร้างขึ้นใหม่ (ในกรณีที่สูญหายหรือถูกทำลาย)
ขั้นตอนที่ 2 การจัดทำแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศ(Orthophoto Map) คือ การจัดทำแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศแสดงลักษณะภูมิประเทศตามแนวเขตแดนทางบกตลอดแนว และได้ตกลงกันว่าจะจ้างประเทศที่สามเป็นผู้ดำเนินการ
ขั้นตอนที่ 3 การกำหนดแนวที่จะเดินสำรวจลงบนแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศ โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันกำหนดแนวที่จะเดินสำรวจตามหลักฐานทางกฎหมายลงบนแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อใช้เป็นแนวทางให้การเดินสำรวจหาแนวเขตแดนในภูมิประเทศจริงเป็นไปโดยสะดวกและมีความถูกต้อง หากทั้งสองฝ่ายมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับแนวที่จะเดินสำรวจ ก็ให้จัดทำแนวของทั้งสองฝ่ายลงบนแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศ
ขั้นตอนที่ 4 การเดินสำรวจหาแนวเขตในภูมิประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันเดินสำรวจสภาพภูมิประเทศจริงตามแนวที่จะเดินสำรวจ ตามขั้นตอนที่ 3 เพื่อกำหนดแนวเขตแดนในภูมิประเทศที่มีทั้งสันปันน้ำแนวเส้นตรง และลำคลอง พร้อมทั้งกำหนดจุดที่จะก่อสร้างหลักเขตแดนไปด้วย (ทุกระยะไม่เกิน 5 กิโลเมตร)
ขั้นตอนที่ 5 การก่อสร้างหลักเขตแดน ซึ่งจะก่อสร้างในภูมิประเทศสำคัญ ทั้งนี้ ได้ตกลงกันด้วยว่าขั้นตอนเหล่านี้เป็นเพียงการวางแผนแม่บทในการปฏิบัติงานไว้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการไปทีละขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศนั้น สามารถดำเนินการควบคู่กันไปกับการค้นหาที่ตั้งหลักเขตแดนได้
4.4 การประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย - กัมพูชา (General Border Committee - GBC) และการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional BorderCommittee - RBC)
ไทยและกัมพูชามีความร่วมมือระหว่างกันในการรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดนไทย - กัมพูชา โดยในปี 2538 ไทยและกัมพูชาได้ลงนามในความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วย ความร่วมมือชายแดน ส่งผลให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย -กัมพูชา (GBC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) ขึ้นโดย GBC เป็นกลไกทวิภาคีฝ่ายทหารระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีกำหนดจัดประชุมทุกปีโดยสลับกันเป็นเจ้าภาพ ในขณะที่ RBC เป็นกลไกทวิภาคีฝ่ายทหารระดับแม่ทัพภาค แบ่งออกเป็น 3 คณะกรรมการได้แก่ RBC ด้านกองทัพภาคที่ 2 กับภูมิภาคทหารที่ 4 ของกัมพูชา ดูแล
ชายแดนด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์) ด้านกองทัพภาคที่ 1 กับภูมิภาคทหารที่ 5 ของกัมพูชา ดูแลชายแดนด้านภาคตะวันออกตอนบน (สระแก้ว) และด้านกองบัญชาการป้องกันชายแดนด้านจันทบุรีและตราด (กปช. จต.) กับภูมิภาคทหารที่ 3 ดูแลชายแดนด้านภาคตะวันออกตอนล่าง (จันทบุรีและตราด)
ล่าสุด ฝ่ายไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม GBC ครั้งที่ 7ระหว่างวันที่ 29 - 30 ตุลาคม 2553 ที่พัทยา โดยมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและ พล.อ. เตีย บันห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชาเป็นประธานร่วม ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือด้านความมั่นคงทั่วไป อาทิ การสัญจรข้ามแดน แรงงาน การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรมข้ามชาติ ความมั่นคงทางทะเลการกู้ทุ่นระเบิด และความร่วมมือด้านอื่น ๆ อาทิ การค้าชายแดนการเกษตร สาธารณสุข การท่องเที่ยว การอนุรักษ์ป่าไม้ การศึกษาวัฒนธรรม และการจัดการสาธารณภัย
ในระดับ RBC ได้มีการประชุมล่าสุดในแต่ละคณะกรรมการ โดย RBC ด้านกองทัพภาคที่ 2 กับภูมิภาคทหารที่ 4 ของกัมพูชา ได้มี การประชุมครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 ที่จังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย RBC ด้านกองทัพภาคที่ 1 กับภูมิภาคทหารที่ 5 ของกัมพูชา จัดการประชุมครั้งที่ 18 เมื่อ 14 - 16 กันยายน 2553 ที่ จังหวัดชลบุรีประเทศไทย และ RBC ด้านกองบัญชาการป้องกันชายแดนด้านจันทบุรี และตราด (กปช. จต.) กับภูมิภาคทหารที่ 3 จัดการประชุมครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2553 โดยในระหว่างการประชุมทั้ง 3 คณะกรรมการ ทั้งสองฝ่ายได้หารือทั้งในประเด็นความมั่นคงบริเวณชายแดนและประเด็นความร่วมมือด้านอื่น ๆ อาทิ การค้า การเกษตร สิ่งแวดล้อม สาธารณสุขและการท่องเที่ยว
ภายใต้บริบทการแก้ไขปัญหาระหว่างไทย - กัมพูชา การประชุมGBC เป็นหนึ่งในสองกลไกหลักนอกเหนือจาก JBC ที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นเพื่อ ใช้ในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดความตึงเครียดบริเวณชายแดน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 ไทย กัมพูชา และอินโดนีเซีย ได้มีการเจรจาหารือและตกลงกันให้มีการดำเนินการแบบชุดข้อตกลง (package of solutions) 3 ขั้นตอน7 ซึ่งในขั้นตอนที่ 2 และ 3 ได้ระบุถึง การหารือเกี่ยวกับการถอนทหารกัมพูชาออกจากบริเวณปราสาทและรอบปราสาทพระวิหาร วัดแก้วสิขาคีรีสะวารา รวมถึงตลาดและชุมชนโดยรอบในกรอบ GBC ซึ่งหากการหารือดังกล่าวเป็นผลสำเร็จนำไปสู่การถอนทหาร
ของกัมพูชาในบริเวณดังกล่าวข้างต้น อินโดนีเซียจึงจะสามารถส่งคณะผู้สังเกตการณ์ฯ เข้ามาในฝั่งไทยและกัมพูชาได้
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกับรองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา ได้ตกลงที่จะให้มีการส่งคณะสำรวจ (survey team) ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สังกัดสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทยและกัมพูชามายังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในฝั่งไทยและกัมพูชา โดยในช่วงเดียวกัน จะจัดการประชุม GBC โดยเป็นวาระที่กัมพูชาเป็นเจ้าภาพ เพื่อหารือเกี่ยวกับการถอนทหารกัมพูชาออกจากปราสาทพระวิหาร บริเวณรอบปราสาทฯวัดแก้วสิขาคีรีสะวารา รวมถึงตลาดและชุมชนโดยรอบ และเมื่อมีการดำเนินการตามผลการประชุม GBC ในเรื่องการปรับกำลังทหารกัมพูชา ดังกล่าวแล้ว จึงจะมีการลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนเรื่อง TOR ของคณะผู้สังเกตการณ์ฯ ต่อไป