เปิดสำนวนคำฟ้องปปช.
มัด‘นพดล’
ยกแผ่นดินไทยให้เขมร
ปมลงนามแถลงการณ์ร่วม
ไม่นำเข้ารัฐสภาขออนุมัติ
ศาลฎีกานัดประชุม26มีค.
เลือกองค์คณะพิจารณาคดี
มีรายงานข่าวว่าศาลฎีกา จะประชุมใหญ่ในวันที่ 26 มีนาคมนี้ เพื่อเลือกองค์คณะผู้พิพากษาจำนวน 9 คน เพื่อพิจารณาคดีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศเป็นจำเลย ในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในกรณีที่ นายนพดล ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18มิถุนายน พ.ศ.2551 ที่สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไทย
คดีนี้ ปปช.ทั้ง9 คน ลงนามยื่นฟ้อง นายนพดล ปัทมะ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2556 โดยคำฟ้องทั้งหมด 17 หน้า ได้บรรยายย้อนเหตุการณ์ตั้งแต่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก ลงความเห็นเมื่อวันที่15 มิถุนายน2505 ว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ภายใต้อาณาเขตอธิปไตยของกัมพูชาฯลฯ และประเทศไทยโดย พันเอกถนัด คอมันต์ รมว.ต่างประเทศในขณะนั้นยื่นคำแถลงการเพื่อประท้วงคำพิพากษาศาลโลกว่าคำพิพากษานั้นขัดต่อกฎหมายและความยุติธรรมนอกจากนี้ ยังสงวนสิทธิ์ที่ประเทศไทยจะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคตด้วย
ทั้งครม.ในขณะนั้นมีมติ ว่าการกำหนดเขตบริเวณปราสาทพระวิหารเพื่อปฎิบัติตามศาลโลก ให้ใช้วิธีที่2ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยกำหนดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าครอบปราสาทพระวิหารเนื้อที่ประมาณ 1ใน4 ตารารางกิโลเมตร มติครม.ดังกล่าวจึงยังมีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีทุกชุดต้องยึดถือปฎิบัติตามจนถึงปัจจุบันนี้
กระทั่งพ.ศ.2548 กัมพูชายื่นเอกสารต่อองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก)ขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียว และทางนายมนัสพาสน์ ชูโต เอกอัคราชฑูตไทยประจำสหรัฐ ไปคัดค้านไว้ในการประชุมบอร์ดมรดกโลกที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ จนกัมพูชาไม่สามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้
เมื่อนายสมัคร สุนทรเวช รับหน้าที่นายกรัฐมนตรีแล้ว วันที่ 3-4 มีนาคม 2551 นายสมัคร ไปพบผู้นำกัมพูชาเรื่องขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และจำเลยคือนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ไปหารือกับนายสก อาน รองนายกฯ และรมต.ประจำสำนักนายกฯกัมพูชา ที่ทางกัมพูชาของให้ไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร
จากนั้นจำเลยคือนายนพดล ได้นำแถลงการร่วมไทย-กัมพูชา ให้ข้าราชการกระทรวงต่างประเทศพิจารณา ทางนายวีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายในขณะนั้น มีบันทึกช่วยจำคัดค้านเรื่องดังกล่าว แต่จำเลยไม่เห็นด้วยจึงเสนอครม.ให้นายวีระชัย พลาศรัยพ้นจากตำแหน่ง ทั้งที่นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงทักท้วง แต่จำเลยยังยืนยันว่าไม่สามารถรวมงานกับอธิบดีที่มีความคิดเช่นนี้ได้
ต่อมานายนพดล จำเลยยังเดินทางไปเขมรอีกหารือกับนายสก อาน เรื่องปราสาทพระวิหารรวมไปถึงการกำหนดเขตทางทะเลระหว่างประเทศ และมีความจะทำแถลงการร่วม โดยไม่ฟังเสียงคัดค้าน นำเรื่องเข้าที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ แบบปิดบังอำพรางและมีเหตุจูงใจแอบแฝงอยู่ แล้วนำเข้าที่ประชุมครม.โดยไม่มีเอกสารแจกให้ที่ประชุมพิจารณาล่วงหน้า เพียงแต่แสดงแผนที่บนจอภาพ ใช้เวลา 15 นาทีมีรัฐมนตรีอภิปรายทักท้วงในเรื่องเขตแดน แต่จำเลยก็ยืนยันว่าไม่มีปัญหา และกระทำอย่างลุกลี้ลุกลนให้ครม.ยอมรับร่างคำแถลงการ จนวันที่ 18 มิถุนายน 2551 จำเลยได้ลงนามในแถลงการดังกล่าว ไม่สนใจในเสียงทักท้วง ท้วงติงจากหลายฝ่าย
โจทก์ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าคำแถลงการร่วมไทย-กัมพูชา นี้เป็นหนังสือสัญญาซึ่งต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 190 วรรคสองและ3 ของรัฐธรรมนูญ(ต้องขออนุมัติจากรัฐสภา) เนื่องจากเป็นข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษร จะต้องออกเป็นพรบ.เพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญา และรับฟังความเห็นจากประชาชน
และพิจารณาตามถ้อยคำ เนื้อหาสาระในคำแถลงการร่วมไทย-กัมพูชา จะเห็นได้ชัดว่า คำแถลงการนี้มีผลทำให้ราชอาณาจักรไทยต้องสละสิทธิ์ในข้อสงวนที่ประเทศไทยจะต้องเอาประสาทพระวิหารกลับคืนมาในอนาคต กรณีศาลโลกได้พิพากษาเมื่อ 15มิถุนายน2505 เป็นการยอมรับอธิปไตยของกัมพูชาเหนือซากของปราสาทพระวิหาร
ทั้งยังเป็นการแสดงเจตนายืนยันชัดแจ้งถึงการยอมรับในแผนที่กำหนดแนวเขตที่จัดทำโดยกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียว แถลงการร่วมไทย-กัมพูชา จึงมีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทย
ประเด็นการกระทำของจำเลยนายนพดล ปัทมะ ขัดต่อมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญนายสุวัฒร อภัยภักดิ์ กับพวก9คน ได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง กลาง และศาลปกครองพิจารณาแล้วมีคำสั่งกำหนดมาตราการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ไม่ให้ รมว.ต่างประเทศ และครม.ดำเนินการใดๆที่เป็นข้ออ้าง หรือใช้ประโยชน์จากมติครม.เมื่อ 17 มิถุนายน 2551และสุดท้ายศาลปกครองสูงสุดชี้ว่า แถลงการร่วมนี้เป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย
นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่8 กรกฎาคม2551ว่าคำแถลงการร่วมไทย-กัมพูชา ดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เพราะมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทย ฯลฯ
ในคำฟ้องข้อ 6 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยนายนพดล ปัทมะ รู้อยู่อย่างถ่องแท้ว่า แถลงการร่วมนี้อาจมีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนของประเทศไทย มีผลกระทบทางสังคม แต่จำเลยได้กระทำไปโดยปกปิดซ่อนเร้น บิดเบือนข้อมูล ข้อเท็จจริง จำเลยเอาใจฝักใส่ในผลประโยชน์ประเทศกัมพูชายิ่งกว่าผลประโยชน์ของประเทศไทย ด้วยเจตนาที่แอบแฝงในประโยชน์ที่ตรงข้ามกับประโยชน์ของประเทศไทย โดยมุ่งหวังให้สมเจตนาแห่งตนโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายด้านอาณาเขตดินแดน และอำนาจอธิปไตยของประเทศ โดยเจตนาไม่สุจริต จึงถือว่าการกระทำดึงกล่าว เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เหมาะสม ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรี อำนาจหน้าที่แห่งตน มิได้ยึดถือว่าตนเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ไม่ปฎิบัติหน้าที่ตามพรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กระทำขัดรัฐธรรมนูญ ขัดขวางการปฎิบัติหน้าที่ของรัฐสภา ไม่ส่งเสริมคุ้มครองสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ไม่รับฟังความเห็นของประชาชน
จึงมีผลให้การลงนามในคำแถลงการร่วมไทย-กัมพูชา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลผูกพันต่อประเทศไทย และเป็นการปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศไทยและคนไทยทุกคน หรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยสุจริต จึงมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
ท้ายคำฟ้อง โจทก์ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โปรดออกหมายเรียกนัดและเรียกจำเลย คือนายนพดล ปัทมะ มาพิจารณาลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งทางศาลฎีกา ได้นัดประชุมใหญ่ในวันที่ 26 มีนาคมนี้ เพื่อเลือกองค์คณะผู้พิพากษาจำนวน 9 คน เพื่อพิจารณาคดีดังกล่าว
ที่มา http://www.naewna.com/politic/46047
ไอ้เหล่ เอาเวลาแก้ตัวมาแก้คำฟ้องดีกว่า ความผิดสำเร็จแล้วว่ะ