คุยการเมืองกับดินสอโดม ตอน โถ..สมันน้อย
วันอังคารที่ 30 เมษายน 2556 เวลา 09:39 น.
คล้ายกับ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เผลอไปหยิบโพยผิดใบมาอ่านบนเวทีระหว่างประเทศ ขณะไปร่วมประชุมประชาคมประชาธิปไตยครั้งที่ 7 ที่ประเทศมองโกเลีย
คล้ายกับ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เผลอไปหยิบโพยผิดใบมาอ่านบนเวทีระหว่างประเทศ ขณะไปร่วมประชุมประชาคมประชาธิปไตยครั้งที่ 7 ที่ประเทศมองโกเลีย
ถ้อยแถลงที่ถ่ายทอดออกไป แสดงให้เห็นถึงบทบาทของผู้หญิงกร้าว พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับทุกฝ่าย และพร้อมจะผนึกภาพลักษณ์ให้เป็นเนื้อเดียวกับคุณทักษิณ ชินวัตรอย่างไม่เคอะเขิน
เช่น ข้อความที่ระบุว่า “ในปี 2540 ประเทศได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งร่างขึ้นโดยประชาชน เราทุกคนคิดว่ายุคใหม่ของประชาธิปไตยมาถึงแล้ว และจะเป็นยุคสมัยที่ไร้การรัฐประหาร แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้น รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง 2 หนด้วยเสียงส่วนใหญ่ถูกล้มในปี 2549 ประเทศไทยเหมือนรถไฟตกราง และประชาชนคนไทยใช้เวลาเกือบ 10 ปีกว่า ที่จะได้เสรีภาพแห่งประชาธิปไตยกลับคืนมา หลายคนที่อยู่ในที่ประชุมแห่งนี้รู้ว่า รัฐบาลที่ดินฉันพูดถึงคือรัฐบาลที่พี่ชายของดิฉัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หลายคนที่ไม่รู้จักดิฉัน อาจบอกว่า เธอจะบ่นไปทำไม เป็นเรื่องปกติในกระบวนการการเมืองที่รัฐบาลมาแล้วก็ไป หากตัวดิฉันและครอบครัวของดิฉันต้องเจ็บปวดแต่ฝ่ายเดียว ดิฉันก็คงจะปล่อยวาง แต่นั่นก็ไม่ใช่ความเป็นไปที่เกิดขึ้น”
นอกจากนี้ คุณยิ่งลักษณ์ยังกล่าวด้วยว่า “ในเดือน พ.ค.2553 มีการสลายการชุมนุมของผู้เรียกร้องกลุ่มคนเสื้อแดง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 91 คนกลางใจย่านธุรกิจของ กทม. คนบริสุทธิ์ถูกลอบยิงด้วยสไนเปอร์ แกนนำการชุมนุมต้องติดคุกหรือหลบหนีไปต่างประเทศ ทุกวันนี้ยังคงมีเหยื่อทางการเมืองจากการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยติด คุกอยู่”
และอีกตอนหนึ่ง “ดิฉันขอปิดท้ายด้วยการประกาศว่า ดิฉันหวังว่า ความเจ็บปวดที่ครอบครัวของดิฉันได้รับ ที่ครอบครัวของเหยื่อทางการเมืองไทยและครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้ง 91 คนในเหตุการณ์เมื่อเดือน พ.ค.2553 ต้องเผชิญ จะเป็นความเจ็บปวดครั้งสุดท้าย”
อันที่จริงถ้อยแถลงที่ร้อนแรงอย่างนี้ น่าจะหลุดออกมาจากปากของคุณทักษิณ ชินวัตร มากกว่า แต่คราวนี้กลับเป็นน้องสาวที่มีบุคลิกไร้เดียงสาทางการเมือง โดยสังเกตจาก
1. ไม่เคยพูดเรื่องการเมืองไทย และมักจะเลี่ยงตอบคำถามผู้สื่อข่าวอยู่เสมอ
2. ใช้ภาษาที่ใช้ครั้งนี้ ร้อนแรงและแปลกไปจากสำนวนที่เคยใช้ เหมือนกับมีคนเขียนและคอยกำกับบท แต่ถ้ากลั่นออกมาเอง ก็แสดงว่า มีความอัดอั้นตันใจจนหมดความอดทน และระบายออกมา
3. การเลือกจังหวะแถลงต่อที่เวทีระดับนานาชาติ เป็นการแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ผูกมัดตัวเอง แตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่พยายามวางตัวห่างจากความขัดแย้งทางการเมือง แต่ในคราวนี้ตั้งใจกระโจนเข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเต็มตัว ด้วยการกล่าวตำหนิองค์กรอิสระ และเผชิญหน้ากับกองทัพ
การประณามการสลายม็อบราชประสงค์ โดยเอ่ยถึงความจริงเพียงครึ่งเดียว จะทำให้คนในกองทัพไม่พอใจ เพราะ 91 ศพที่เสียชีวิตนั้น มีทหาร ตำรวจ และประชาชนที่ไม่ใช่กลุ่มเสื้อแดงรวมอยู่ด้วย พวกนี้ถูกคนเสื้อดำยิงเสียชีวิต
อีกทั้งต้นเหตุการณ์ชุมนุม ไม่ได้เป็นเรื่องของอุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่เป็นการเรียกร้องให้คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา จัดเลือกตั้งใหม่ เพื่อล้างไพ่และหาโอกาสทำให้การเมืองพลิกขั้วเท่านั้นเอง
การกระโจนเข้าสู่ความขัดแย้ง จะทำให้รัฐบาลขาดความชอบธรรม และกลายเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้ตัวเอง
รวมถึงยิ่งสร้างความงุนงงสงสัยให้กับนานาชาติ เพราะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจล้นฟ้า มีกลไกรัฐอยู่เต็ม 2 มือ แล้วทำไมไม่สั่งปล่อยกรมราชทัณฑ์ปล่อยกลุ่มเสื้อแดงที่เชื่อว่าไม่ได้กระทำ ผิดกฎหมายออกจากคุก
แล้วทำไมไม่เอาเครื่องบินไปรับคุณทักษิณกลับมาเดินเท่ห์ ๆ แล้วสั่งให้ตำรวจเดินล้อมหน้าล้อมหลัง คอยรักษาความปลอดภัย
แล้วทำไมไม่สร้างประชาธิปไตยด้วยกลไกของรัฐที่อยู่ในกำมือของตัวเอง
ก็นั่งเป็นนายกรัฐมนตรี บริหารประเทศไทยอยู่แท้ ๆ กลับไปประจานว่าเป็นผืนแผ่นดินแห่งนี้ล้าหลังเป็นเผด็จการ
หรือ..?? เผลอไปคว้าโพยของพี่ชายมาอ่าน และอ่านแล้วกลับไม่รู้ความหมาย
จึงขอตบท้ายด้วยคำว่า Thank you three times อ่านว่า แธงค์กิ้วทรีไทม์ ให้กับสมันน้อยที่อยากสวมหน้ากากเสือ.
ดินสอโดม
ที่มา:http://www.dailynews...icle/825/200962