มุสลิมของจีนอาจจะยอมรับการพัฒนามากกว่าโจรใต้นะครับ
และเงื่อนไขของบทความนี้อาจจะใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมกับประเทศไทย
แต่น่าจะใช้วิธีนี้ ก่อนเกิดมิคสัญญี ก่อนที่ใครบางคนจะไปสุมไฟ
ใช้วิจารณญาณเหมือนเช่นเคยครับ
โดย จันทร์จุฑา สุขขี นักวิจัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มติชนรายวัน วันที่ 08 กันยายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 10043
ซินเกียงเป็นดินแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน อยู่ห่างกรุงปักกิ่งถึง 4,000 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 1.66 ล้านตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ทุรกันดารเพราะมีที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบสูงปาร์มีและทะเลทรายตะกามะกัน
เมื่อมองจากภูมิประเทศหลายคนอาจคิดว่าซินเกียงเป็นเพียงดินแดนไกลปืนเที่ยงที่ไร้ผู้คนและด้อยความสำคัญ
แต่อันที่จริงแล้วซินเกียงมีความสำคัญต่อจีนอย่างยิ่งทั้งในทางเศรษฐกิจและความมั่นคง เพราะเป็นที่ตั้งของ "แอ่งทาริม" ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดของจีน
และซินเกียงตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญคือ เป็นเขตเชื่อมต่อจีนกับประเทศเพื่อนบ้านอีก 8 ประเทศ คือชายแดนตะวันออกเฉียงเหนือติดกับมองโกเลีย ชายแดนตะวันตกติดกับรัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กิซสถาน และทาจิกิสถาน ส่วนทิศใต้ติดกับปากีสถาน อินเดีย และอัฟกานิสถาน
การที่อยู่ใกล้กับประเทศในเอเชียกลางหลายประเทศทำให้ประชากรพื้นเมืองของซินเกียงไม่ใช่ชาวจีน แต่เป็นคนเชื้อสายเตอร์กที่เรียกตัวเองว่าชาว "อุยกูร์"
คนเหล่านี้เป็นมุสลิมที่มีความขัดแย้งกับทางการจีนมาอย่างยาวนาน โดยคู่ปรับที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลจีนก็คือกลุ่ม "องค์การปลดปล่อยเตอร์กิสถานตะวันออก" (East Turkistan Liberation Organization : ETLO) ซึ่งมีเป้าหมายที่ต้องการจะแบ่งแยกดินแดนซินเกียงออกเป็นประเทศอิสระที่ปกครองแบบรัฐมุสลิม
ในชื่อว่า "เตอร์กิสถานตะวันออก"
ปัญหาผู้ก่อการร้ายมุสลิมในซินเกียง เป็นปัญหาความมั่นคงภายในที่สำคัญที่จีนเผชิญ การก่อการร้ายโดยผู้ก่อการร้ายมุสลิมในซินเกียง เกิดขึ้นหลายร้อยครั้ง และหลายรูปแบบ ตั้งแต่การวางระเบิดสถานที่ราชการ และสถานีรถโดยสาร การลอบสังหารเจ้าหน้าที่รัฐทั้งด้วยปืนและมีด การบุกโจมตีที่ทำการเทศบาลและสถานีตำรวจ การเผาโรงงานที่เป็นวิสาหกิจของรัฐและชาวจีน และยังมีการจัดตั้งฐานฝึกปฏิบัติการใช้อาวุธและก่อวินาศกรรมหลายสิบแห่ง
อันที่จริงแล้ว ความขัดแย้งระหว่างจีนและชาวมุสลิมในซินเกียงไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นปัญหาที่มีรากเหง้าหยั่งลึกในประวัติศาสตร์
ซินเกียงเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโบราณมาตั้งแต่เมื่อสองพันปีก่อน การที่ซินเกียงเป็นจุดเชื่อมจีนเข้ากับเอเชียกลางและเอเชียใต้ ทำให้ซินเกียงเจริญถึงขีดสุดในยุคที่การค้าบนเส้นทางสายไหมรุ่งเรือง
ศาสนาอิสลามเผยแพร่เข้ามาผ่านพ่อค้ามุสลิมตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ครั้ง ถึงศตวรรษที่ 10 ชาวอุยกูร์ทั้งหลายก็กลายเป็นมุสลิมนิกายซูฟีทั้งสิ้น
นครการค้าอย่างนครคาซการ์กลายเป็นเมืองที่มีความเจริญสูงยิ่งทั้งด้านเศรษฐกิจ และด้านการเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมอิสลามในแถบนี้ จนถึงช่วงศตวรรษที่ 14 บรรดาสุลต่านแห่งนครทั้งหลายในแถบนี้ ก็เรียกดินแดนของพวกเขาอย่างรวมๆ ว่าเตอร์กิสถานตะวันออก
ดินแดนแถบนี้ตกเป็นของจีนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ในเวลานั้นจีนและชาวมุสลิมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพราะจักรพรรดิจีนมีนโยบายที่ปกครองชาวมุสลิมอย่างผ่อนปรน และให้ชาวมุสลิมปกครองกันเอง และให้เสรีภาพเต็มที่ในการนับถือศาสนา
แต่ต่อมาในศตวรรษที่ 18 จีนและรัสเซียแข่งขันกันแผ่อิทธิพลในเอเชียกลาง จีนจึงมีนโนบายเพิ่มความเข้มข้นในการปกครองซินเกียง และเมื่ออิทธิพลของอังกฤษแผ่เข้ามาในเอเชียใต้และเอเชียกลางในศตวรรษที่ 19 จีนก็ยิ่งต้องแสดงความเป็นเจ้าของซินเกียงเพื่อทัดทานกับการล่าอาณานิคมของอังกฤษ
ดังนั้น เส้นเขตแดนระหว่างประเทศจึงถูกเขียนขึ้นล้อมอาณาจักรจีน แต่ในขณะเดียวกันก็ตัดขาดชาวมุสลิมในซินเกียง กับมุสลิมในเอเชียกลาง อำนาจปกครองก็ถูกรวบไปรวมศูนย์อยู่ที่กรุงปักกิ่ง
ซินเกียงกลายเป็นเพียงดินแดนชายขอบของอาณาจักรจีนอันไพศาล อารยธรรมที่เคยรุ่งเรือง ก็กลายเป็นสิ่งที่แปลกแยกจากอารยธรรมของจีนซึ่งเป็นศูนย์กลาง
ซินเกียงค่อยๆ หมดความสำคัญในฐานะดินแดนการค้าลง แล้วเศรษฐกิจก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ จนเป็นเพียงดินแดนที่ยากจน นอกจากนี้ จีนได้ส่งขุนนางจีนไปปกครองซินเกียงแทนการให้ชาวมุสลิมปกครอง
ขุนนางที่ถูกส่งไปมักเป็นขุนนางโฉดที่ถูกลงโทษให้ไปลำบากในแดนไกล แต่การที่อยู่ไกลเมืองหลวงมากเปิดช่องให้ขุนนางเหล่านี้กดขี่ประชาชน ขูดรีด ทุจริต และไม่เคารพต่อประเพณีมุสลิม สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวมุสลิมอย่างมาก
จุดนี้เป็นมูลเหตุที่ทำให้ชาวมุสลิมเกลียดชังรัฐบาลจีน และก่อเหตุสู้รบต่อต้านทางการนับครั้งไม่ถ้วน
รัฐบาลแห่งราชวงศ์ชิง มีนโยบายต่อชาวมุสลิมที่ต่อต้านคือ การปราบปรามอย่างเฉียบขาดทำให้ชาวมุสลิมล้มตายไปเป็นจำนวนมาก ความเกลียดชังก็ยิ่งเพิ่ม นโยบายนี้จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้
และยิ่งใช้ก็ยิ่งกระพือปัญหาให้ลุกลามมากขึ้น
จีนหันไปปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ในปี 1949 แต่ปัญหาการต่อต้านจากกลุ่มชาวมุสลิมในซินเกียงก็ยังมีอยู่ รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ในยุคแรกๆ พยายามแก้ปัญหาโดยใช้นโยบายควบคุมชาวมุสลิมอย่างเข้มงวด มีการประกาศให้ศาสนาอิสลามกลายเป็นสิ่งต้องห้าม มัสยิดถูกทำลายหรือไม่ก็เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์
กล่าวกันว่ามีการสังหารชาวมุสลิมที่ต่อต้านรัฐบาลหลายแสนคน
แต่ผลของนโยบายดังกล่าวกลับไม่ก่อให้เกิดความสงบราบคาบตามที่รัฐคาดหวัง นโยบายดังกล่าวกลับยิ่งทำให้เกิดขบวนการก่อการร้ายมุสลิมกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมากมาย จนรัฐบาลจีนต้องหาทางลดแรงกดดันด้วยการประกาศให้ซินเกียงเป็น "เขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ซินกียง" ในปี 1955 โดยตั้งนครอูรุฉีเป็นศูนย์กลาง แต่ในทางปฏิบัติก็ยังคงใช้ความเด็ดขาดในการปกครองและควบคุมชาวมุสลิมอย่างเข้มงวด ปัญหาในซินเกียงจึงไม่หมดไป
เมื่อรัฐบาลจีนพบว่าการตั้งเขตปกครองตนเองไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกทาง ก็หันไปเลือกใช้นโยบายให้เสรีภาพในการปฏิบัติศาสนกิจในปี 1983 โดยยกเลิกกฎต่างๆ ที่เคยประกาศมาตั้งแต่ปี 1949 แล้วหันไปทำนุบำรุงมัสยิดที่ถูกปิดร้าง ส่งเสริมการตั้งสมาคมชาวมุสลิม รวมทั้งส่งเสริมบทบาทของผู้นำศาสนา
แต่กระนั้นชาวมุสลิมในซินเกียงก็ยังมองจีนไม่สู้ดี เพราะพวกเขาเห็นว่าผู้นำศาสนาที่จีนส่งเสริมนั้น มีแต่พวกที่ฝักใฝ่อิทธิพลทางการเมืองกับตำแหน่งในพรรคคอมมิวนิสต์จีน ไม่ใช่ผู้ที่ชุมชนมุสลิมเคารพนับถือ
เมื่อถึงยุคทศวรรษที่ 1990 จีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสูง และกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ สูงที่สุดในโลก รัฐบาลจีนในยุคนั้นเชื่อมั่นว่าปัญหาผู้ก่อการร้ายมุสลิมในซินเกียงเกิดจากการที่ชาวมุสลิมยากจน และล้าหลัง ดังนั้นรัฐบาลจึงใช้นโยบายพัฒนา เพื่อแก้ปัญหาผู้ก่อการร้ายมุสลิม ด้วยการบรรจุแผนการพัฒนาซินเกียง อยู่ในแผนพัฒนาประเทศปี 1996
นับแต่นั้นจีนได้พัฒนาซินเกียงในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นการสร้างเส้นทางคมนาคมที่ทันสมัย เพื่อนำความเจริญจากโลกภายนอกไปสู่ซินเกียง การส่งเสริมการลงทุนและอุตสาหกรรม การส่งเสริมการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังได้พยายามใช้นโยบายสร้างความเป็นจีนกับซินเกียง โดยส่งเสริมให้คนจีนฮั่นซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าไปตั้งถิ่นฐานหรือทำงานในซินเกียง เพื่อสร้างเศรษฐกิจของซินเกียงให้เจริญก้าวหน้า
นอกจากนี้ยังได้พยายามใช้นโยบายสร้างความเป็นจีน โดยสั่งห้ามสอนภาษาเตอร์กให้กับเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี และตั้งมหาวิทยาลัยของทางการในซินเกียงถึง 14 แห่ง เพื่อให้การศึกษาแก่คนรุ่นใหม่
นโยบายดังกล่าว สามารถพัฒนาซินเกียงได้อย่างรวดเร็วและสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างงดงามให้กับซินเกียง
อย่างไรก็ดี การกระจายโอกาสให้กับประชาชนเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง เพราะปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่ทางการ เป็นเหตุให้ความมั่งคั่งมักตกอยู่ในมือผู้มีอิทธิพลบางกลุ่มและชาวจีนฮั่น ซึ่งเป็นผู้มาอยู่ใหม่ในสายตาของชาวมุสลิม ส่วนที่เหลือที่ตกอยู่ในมือชาวมุสลิมที่อยู่ในเมืองใหญ่ ซึ่งมีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับระบบเศรษฐกิจและสังคมแบบใหม่ได้ดีกว่า
งานและโอกาสดีๆ ในชีวิตตกเป็นของบัณฑิตจบใหม่ชาวจีนฮั่นและชาวมุสลิมที่เป็นคนเมือง ในขณะที่ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ไม่ใช่คนเมืองและปรับตัวไม่ทัน ยังคงยากจน ไม่มีงานทำ และด้อยโอกาสทางการศึกษา
การพัฒนาจึงกลายเป็นสิ่งที่เพิ่มช่องว่างและความแตกต่างของคนยิ่งขึ้น เด็กหนุ่มที่สิ้นหวังในชนบทหันไปร่วมกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายมุสลิมเพิ่มขึ้น และก่อเหตุรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะในยุคปี 2000 ซึ่งกระแสอุดมการณ์อิสลามนิยมสุดขั้วและลัทธิก่อการร้ายแพร่กระจายไปทั่วโลก
แม้ว่าในปี 2001 จีนประสบความสำเร็จในการเจรจาให้สหรัฐที่กำลังต้องการปราบปราบการก่อการร้ายทั่วโลก ยินยอมขึ้นบัญชี ETLO เป็นขบวนการก่อการร้ายสากล แต่กลับไม่ส่งผลในการแก้ปัญหามากนัก
เพราะในปี 2002 ก็เกิดเหตุการณ์ที่นักการทูตระดับสูงของจีนถูกสังหารอย่างอุกอาจกลางถนนในกรุงบิชเกค ของประเทศคีร์กิซสถานพร้อมกับนักธุรกิจสัญชาติจีน
รัฐบาลจีนยุคใหม่ต้องหันกลับไปพิจารณานโยบายแก้ปัญหาที่ผ่านมา แล้วพบว่าไม่มีวิธีใดที่แก้ปัญหาได้ ทุกนโยบายต่างมีจุดอ่อนและก่อให้เกิดปัญหาใหม่ ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมาจีนมองข้ามสาเหตุที่สำคัญที่สุด 2 ประการ คือ
ปัญหาพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ทางการในท้องที่
และปัญหาที่ชาวมุสลิมถูกกดอัตลักษณ์หรือความเป็นตัวตนและสำนึกทางวัฒนธรรมมาโดยตลอด
การพยายามทำให้ทุกคนอยู่ได้วัฒนธรรมจีนเป็นเรื่องที่ฝืนความจริงตามธรรมชาติ ทำให้ผู้คนดิ้นรนและโหยหาความเป็นตัวตน และหวนฝันถึงอดีตที่ไม่มีวันกลับมาของอาณาจักรในประวัติศาสตร์
รัฐบาลจีนจึงดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาที่รากเหง้า โดยการตรวจสอบขนานใหญ่และลงโทษเจ้าหน้าที่ทางการในซินเกียง ที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ในขณะเดียวกันรัฐบาลจีนก็เล็งเห็นว่า อัตลักษณ์และสำนึกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นซินเกียงมีพลัง และศักยภาพที่จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศได้
ดังนั้น ในปี 2002 จีนจึงใช้นโยบายยกระดับความสำคัญของซินเกียงและวัฒนธรรมมุสลิม ด้วยการส่งเสริมบทบาทให้ชาวมุสลิมในซินเกียง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของจีนในการร่วมมือ และติดต่อกับประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization : SCO) ซึ่งเป็นองค์การความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคเอเชียกลาง ที่จีนและรัสเซียร่วมกันก่อตั้งกับประเทศคาซัคสถาน ทาจิกิสถาน คีร์กิซสถาน และอุซเบกิสถาน ซึ่งล้วนเป็นประเทศมุสลิมทั้งสิ้น
จีนอาศัยลักษณะพิเศษของชาวซินเกียงที่มีเชื้อสาย ภาษา และศาสนา เหมือนคนในประเทศเอเชียกลางให้เป็นประโยชน์ ในการร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยฟื้นฟูเส้นทางการค้าชายแดน และส่งเสริมให้ซินเกียง เป็นเขตอุตสาหกรรมผลิตอาหารฮาลาล ส่งออกไปยังเอเชียกลาง
รวมทั้งส่งเสริมให้ซินเกียงมีบทบาทในการติดต่อด้านการค้า และการลงทุนกับอิหร่าน และประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลางด้วย
เมื่อทำเช่นนั้น ชาวมุสลิมจึงมีส่วนร่วมในการสร้างและแบ่งปันความร่ำรวย อันทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้นอย่างมาก
ในรอบเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ปัญหาผู้ก่อการร้ายมุสลิมในซินเกียงลดลงอย่างน่าพอใจ แม้ว่าการทำลายสิ่งของของทางการยังมีอยู่บ้าง แต่การวางระเบิด เผา หรือ โจมตีสถานที่ราชการนั้นไม่มีปรากฏ
หากหลายประเทศที่ประสบปัญหาลักษณะคล้ายกับจีน จะนำวิธีแก้ปัญหาครั้งล่าสุดของจีนไปประยุกต์ใช้ คือการไตร่ตรองว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริง แล้วแก้ที่ปัญหานั้น แทนการใช้กำลังก็อาจทำให้ปัญหาในประเทศของตน บรรเทาลงได้ไม่น้อย