สมาคมพืชสวนชี้ “เรื่องเหลวไหล”
ขณะที่ นายอนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ทันทีที่เห็นข่าวเรื่อง “ข้าวถุง” ที่ขายตามห้างค้าปลีกมีราขึ้น มีสารเคมีจากการรักษาสภาพข้าวในโกดังและข่าวสหรัฐฯ สั่งกักตู้คอนเทนเนอร์ข้าวไทยไว้ที่ท่าเรือไม่ยอมนำเข้า เพราะมียาฆ่าแมลง ก็รู้ทันทีว่าเป็นเรื่องเหลวไหล เป็นไปไม่ได้”
เขาระบุว่า แม้สังคมจะมีความกังวล และคิดไปได้ว่า ประเทศไทยมีโครงการรับจำนำข้าว มีข้าวสารในประเทศจำนวนมหาศาลกองค้างอยู่ในโกดัง ย่อมมีความเสี่ยงที่ข้าวเหล่านั้นจะเสื่อมคุณภาพ หรือหากเก็บไม่ดี โกดังไม่มีคุณภาพข้าวอาจมีราขึ้น ท้ายที่สุดต้องมีการใช้สารเคมีรมข้าวในโกดังเพื่อรักษาสภาพและคุณภาพข้าวสาร
“แต่สังคมต้องรู้ด้วยว่า การค้าข้าวของประเทศไทยเป็นระบบอุตสาหกรรมอย่างหนึ่งที่ประเทศไทยมีความชำนาญ มีความเข้มแข็งเป็นอันดับ 1 ของโลก เพราะสั่งสมประสบการณ์ผลิตข้าวเพื่อส่งออกมากว่า 50 ปี ไม่มีทางที่จะมีข้าวเน่าหลุดรอดออกไปถึงมือผู้บริโภคได้”
โดยได้ฉายภาพให้เห็นว่า ข้าวสารที่กองอยู่ในโกดังของรัฐ ในท้ายที่สุดแล้วต้องระบายออกไป ผ่านมือพ่อค้าข้าว โดยมีเป้าหมายปลายทางอยู่ 2 แห่ง คือ 1.จำหน่ายเป็นข้าวสารส่งออกไปยังต่างประเทศ และ 2.การนำข้าวสารมาบรรจุถุงทำเป็นข้าวถุงขาย และไม่ว่าข้าวสารเหล่านั้นจะถูกนำไปขายในประเทศหรือต่างประเทศ ก็ไม่ใช่การนำข้าวในโกดังมาเทกองรวมกันแล้วใส่ถุงไปวางขายทันที
ข้าวสารที่จะถูกนำไปส่งออกนั้น จะต้องผ่านการคัดเลือก คัดกรองคุณภาพจากผู้ส่งออกไทย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้เป็นอย่างดี และบริษัทผู้ส่งออกข้าวเหล่านี้ที่มีอยู่กว่า 30 รายนั้น ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบครัวที่ส่งต่อธุรกิจกันแบบรุ่นต่อรุ่น ส่งออกข้าวมาแล้วเป็นสิบๆปี จนไทยครองแชมป์โลกทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ
“ผู้ส่งออกข้าวเหล่านี้จึงมีชื่อเสียงในวงการ มีลูกค้าที่เป็นคู่ค้าผูกปิ่นโตกันมายาวนาน ไม่มีทางที่บริษัทเหล่านี้จะฆ่าตัวตายด้วยการปล่อยให้มีข้าวเน่าหรือข้าวคุณภาพต่ำเล็ดรอดออกไปได้แน่นอน ผู้ส่งออกที่เชี่ยวชาญเหล่านี้ไม่มีทางยอมจ่ายเงินซื้อข้าวเน่าในโกดังออกไปอย่างแน่นอน แต่แม้ว่าจะราคาถูก ดังนั้น ตัดเรื่องข้าวเน่า ข้าวเหลือง หรือข้าวมีเชื้อราออกไปได้เลย”
เป็นไปไม่ได้ข้าวไทยมี “สารตกค้าง”
สำหรับประเด็นปัญหา “สารตกค้าง” ในข้าวส่งออกนั้น นายกสมาคมพืชสวนฯ แจกแจงให้ฟังว่า ยิ่งเป็นไปได้ยาก เพราะสารเคมีที่ใช้รักษาสภาพข้าวสารที่มีอยู่ 2 ชนิด คือ “เมทิลโบรไมด์” และ “ฟอสฟีน” ซึ่งสาร 2 ชนิดนี้สลายตัวเร็วมากเมื่อถูกอากาศ จึงไม่มีพิษตกค้าง เป็นสารเคมีที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกใช้กันทั้งโลก แม้แต่สหรัฐฯที่ขึ้นชื่อเรื่องความเข้มงวดในเรื่องความปลอดภัยในอาหารสุดๆ ก็ใช้สารเมทิลโบรไมด์ในสินค้าเกษตรมากที่สุดในโลกด้วยซ้ำ
ส่วนกระแสที่ว่า สหรัฐฯ ตรวจพบยาฆ่าแมลงในข้าวที่ส่งออกไปบางลอตนั้น เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้ เป็นเรื่องปกติ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย จึงอาจมีเกษตรกรบางรายที่ฝ่าฝืนใช้สารเคมีที่ทางราชการประกาศห้ามใช้ ซึ่งในท้ายที่สุด หากการส่งออกข้าวลอตนั้นๆ มีปัญหา พ่อค้าก็จะไม่รับซื้อข้าวจากชาวนารายนั้น หันไปซื้อจากรายอื่นแทน
“ปัญหาเรื่องคุณภาพสินค้าเล็กๆ น้อยๆ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเป็นเรื่องปกติ ไม่ควรนำมาพูดให้เป็นปัญหา ถ้าเทียบกับในอดีตที่เคยเกิดปัญหากรณีเนื้อวัวที่ส่งออกจากสหรัฐฯ มีเชื้อวัวบ้าติดมาด้วย จนลูกค้าเนื้อรายใหญ่คือ ญี่ปุ่น และเกาหลีประกาศห้ามนำเข้า แบบนั้นถึงจะเรียกว่ามีปัญหาและเป็นปัญหาใหญ่ด้วย”
สำหรับข้าวสารบรรจุเป็นข้าวถุงที่วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าในประเทศ ซึ่งโดนปล่อยข่าวทุบเช่นกันทั้งกรณีพบข้าวที่เป็นรา มีมอด มีสารพิษตกค้าง “แต่ถามว่า เคยมีใครได้เห็นผู้บริโภคตัวจริงออกมาร้องเรียนให้เป็นข่าวตามสื่อบ้างหรือไม่ มีแต่ข่าวเท่านั้นที่ปล่อยออกมา”
เพราะในความเป็นจริง ตลาดข้าวถุง มีผู้ประกอบการอยู่หลายราย แข่งขันกันอย่างดุเดือด ไม่มีใครยอมใคร ข้าวสารที่ผู้ประกอบการจะยอมซื้อออกมาจากโกดังก็ต้องเป็นข้าวที่มีสภาพดีอยู่แล้ว จากนั้นจึงนำมาคัดแยกคุณภาพข้าว แบ่งเป็นเกรดและบรรจุถุงออกวางจำหน่าย ขณะที่สารตกค้างก็มีสำนักงานคณะกรรมการองค์การอาหารและยา (อย.) ออกตรวจอยู่ตลอดเวลา ทั้งหมดนี้ จึงกล้ายืนยันว่า ข้าวไทยเป็นข้าวที่มีคุณภาพและความปลอดภัย และยังคงเป็นสินค้าที่ลูกค้าต่างชาติให้ความเชื่อมั่นอย่างแน่นอน
“อยากฝากไปยังนักการเมืองที่ออกมาพูดเรื่องข้าวไทยอันตรายกินแล้วเสี่ยงเป็นมะเร็ง หรือปล่อยข่าวว่าข้าวไทยถูกต่างประเทศแบน ให้คิดให้ดี พูดเหมารวมอย่างนี้เป็นการเล่นการเมืองเกินไป จนประเทศชาติเสียหาย ความเชื่อมั่นในคุณภาพข้าวจนขายดิบขายดีทั่วโลก ประเทศไทยต้องใช้เวลาเป็นสิบๆปีในการสั่งสมความเชื่อมั่นจากลูกค้ามา แต่อาจถูกทำลายด้วยคำพูดของคนบางกลุ่มภายในไม่กี่วัน
เพราะหากท้ายที่สุดแล้ว หากลูกค้าไม่เชื่อมั่นข้าวไทย หน่วยงานราชการไทยออกใบรับรองไปแล้วไม่มีใครให้ความเชื่อถือ ท้ายที่สุดชาวนาในประเทศนั่นเองที่จะเดือดร้อน ถามว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ คนที่พูดเรื่องข้าวไทยมีปัญหาพร้อมจะรับผิดชอบหรือไม่”