"คลัง"คลอดแผน กู้แสนล้านค้ำประกันตั๋วพี/เอ็นให้ธ.ก.ส. วงเงิน8หมื่นล้านและออกพันธบัตรออมทรัพย์2หมื่นล้าน ที่ "กิตติรัตน์"มั่นใจมีนักลงทุนสนใจ

กระทรวง การคลัง เตรียมแผนหาเงินมาใช้หนี้โครงการรับจำนำข้าวแสนล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (พี/เอ็น) วงเงิน 80,000 ล้านบาท และออกพันธบัตรออมทรัพย์อีก 20,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถระดมเงินได้ภายในไม่เกิน 8 สัปดาห์
การระดมเงินจำนวน 100,000 ล้านบาทในครั้งนี้ กระทรวงการคลังเชื่อว่าจะเพียงพอกับการจ่ายเงินที่ค้างชำระโครงการจำนำข้าว ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท โดยส่วนหนึ่งมาจากการระบายข้าวในสต็อกรัฐบาล
การออกพันธบัตรออมทรัพย์และตั๋วสัญญาใช้เงิน ถือเป็นความพยายามล่าสุดของรัฐบาลและมีความมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาทางข้อ กฎหมาย เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับการกู้เงิน 1.4 แสนล้านบาท จากตลาดเงิน โดยในครั้งนั้น สถาบันการเงินไม่มีความมั่นใจว่าการกู้เงินดังกล่าวรัฐบาลสามารถกระทำได้ตาม กฎหมายหรือไม่ เนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการ
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการออกพันธบัตรรัฐบาล เพื่อระดมเงินจากประชาชนมาจ่ายเงินค่ารับจำนำข้าวให้ชาวนา "ในเบื้องต้นจากการพิจารณาข้อกฎหมายก็ไม่พบปัญหา และหากจะใช้แนวทางดังกล่าวจริง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7-8 สัปดาห์ในการดำเนินการ โดยเชื่อว่าจะมีนักลงทุนรายย่อย และภาคเอกชนจำนวนมากที่สนใจเข้ามาซื้ออย่างแน่นอน"
วานนี้ (21 ก.พ.) นายกิตติรัตน์ ร่วมหารือกับนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนางเบญจา หลุยเจริญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ถึงแนวทางการจัดหาเงินมาจ่ายชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว โดยการออกพันธบัตร ขณะที่รัฐบาลกำลังเผชิญกับแรงกดดันจากการชุมนุมของชาวนาทั่วประเทศ
"รายละเอียดของการออกนั้น เบื้องต้นในส่วนของดอกเบี้ยจะสูงและดึงดูดใจให้คนเข้ามาซื้อแน่นอน" นายกิตติรัตน์ กล่าว
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่าไม่มีความเป็นห่วงเรื่องการตอบรับ เพราะคาดว่าเมื่อออกพันธบัตรมาแล้ว จะมีคนจำนวนมากที่อยากช่วย พร้อมทั้งอยากร่วมมือกับรัฐบาลช่วยเหลือชาวนาที่กำลังเดือดร้อน และขอยืนยันว่าที่ผ่านมา ไม่เคยขอร้องหรือสั่งการให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจมาซื้อพันธบัตรของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น ทั้งบริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
ธ.ก.ส.ออกตั๋วพี/เอ็น8หมื่นล้านคลังค้ำ
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่าแนวทางการระดมเงินในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การให้ธ.ก.ส.ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน(พี/เอ็น) วงเงิน 80,000 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกัน ส่วนที่เหลืออีก 20,000 ล้านบาท กระทรวงการคลังจะออกพันธบัตรออมทรัพย์
วงเงินดังกล่าวจะเพียงพอต่อภาระติดค้างใบประทวนในฤดูผลิต 2556/57 ซึ่งขณะนี้โครงการรับจำนำของรัฐบาล ติดหนี้ชาวนาทั่วประเทศอยู่ราว 1.2 แสนล้านบาท นายลักษณ์ กล่าวว่า เพื่อแก้ปัญหาให้กับชาวนาที่เดือดร้อน ทางธ.ก.ส.ได้ตั้งวงเงินสินเชื่อพิเศษ 40,000 ล้านบาท ให้กับชาวนาได้กู้ในระหว่างที่ยังรอเงินรับจำนำข้าวจากรัฐบาล แต่จะคิดดอกเบี้ย 60 สตางค์ต่อเดือน
วายุภักษ์ไม่มีสภาพคล่องเพียงพอ
กองทุนวายุภักษ์ ถือเป็นแหล่งเงินที่มีข่าวว่าอาจจะเข้าซื้อพันธบัตรของรัฐบาล แต่เมื่อพิจารณาการลงทุนของกองทุนและสภาพคล่องที่มีในขณะนี้ อาจเป็นไปได้ยาก
นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงาน คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่ากองทุนวายุภักษ์ไม่มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะไปซื้อพันธบัตร และหากจะให้กองทุนวายุภักษ์ขายหุ้น แล้วนำเงินมาซื้อพันธบัตร คงจะทำไม่ได้ เพราะการขายหุ้นอาจจะทำให้กองทุนขาดทุน และมีผลเสียหายต่อนักลงทุนผู้ถือหน่วยลงทุน ปัจจุบัน กองทุนวายุภักษ์มีสินทรัพย์ภายใต้บริหารประมาณ 2.5 แสนล้านบาท แต่มีสภาพคล่องเพียง 3 พันล้านบาท ส่วนรัฐวิสาหกิจอื่นๆ จะสามารถเข้าไปซื้อพันธบัตรดังกล่าวได้หรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน
เผยคลังสอบถามสภาพคล่องกองทุน
แหล่งข่าวกล่าวว่า กระทรวงการคลังได้สอบถามไปยังผู้บริหารกองทุนวายุภักษ์ เพื่อทาบทามให้เข้ามาลงทุนในพันธบัตร ที่กระทรวงการคลังจะนำออกขาย เพื่อหาเงินไปจ่ายหนี้ชาวนาว่า สามารถทำได้หรือไม่ โดยปัจจุบันกองทุนวายุภักษ์ได้แปลงสภาพจากกอง 1 เป็นกอง 2 แล้ว มีสินทรัพย์ภายใต้บริหารประมาณ 2.5 แสนล้านบาท มีสภาพคล่องในซึ่งลงทุนในพันธบัตรมือราว 1.2% หรือประมาณ 3 พันล้านบาท
"กระทรวงการคลังสอบถามมาว่ากองทุนวายุภักษ์ สามารถเข้าลงทุนในพันธบัตรได้หรือไม่ ซึ่งเราก็ตอบไปว่าสามารถลงทุนได้ ไม่มีข้อกำหนดห้ามและปัจจุบันก็ลงทุนในบอนด์อยู่ แล้ว อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงการคลังต้องการให้ลงทุนเพิ่มเติมอีกก็คงต้องขายหุ้นที่ถืออยู่ใน มือออกไป ซึ่งในสถานการณ์อย่างนี้ หากต้องขายหุ้นออกก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมตลาด"
ส่วนหุ้นในพอร์ตกองทุนวายุภักษ์ จะเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ เช่น ปตท. การบินไทย แบงก์กรุงไทย เป็นต้น ซึ่งกระทรวงการคลังได้ขายหุ้นให้กองทุนวายุภักษ์เพื่อไปบริหารหาผลประโยชน์ เพิ่มเติม โดยที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นในกองทุนวายุภักษ์ทั้งหมด หลังจากแปลงจากกอง 1 เป็นกอง 2 และในเร็วๆ นี้ก็จะได้รับเงินปันผลจากหุ้นปตท.เข้ามาอีกราว 1 หมื่นล้านบาท
"คิดว่าแม้กองทุนวายุภักษ์ จะไม่มีข้อกำหนดห้ามลงทุนในพันธบัตร แต่วัตถุประสงค์ของกองทุนวายุภักษ์หลักๆ ก็เพื่อลงทุนในหุ้น การลงทุนในพันธบัตรเป็นการบริหารสภาพคล่องช่วงสั้นๆ เท่านั้น เพื่อรอจังหวะที่จะเข้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ยังคิดว่ากองทุนวายุภักษ์เป็นเพียงเป้าหลอกมากกว่า เนื่องจากการหาแหล่งเงินเพื่อนำมาจ่ายหนี้ให้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว น่าจะมาจากการกู้สถาบันการเงินเป็นหลัก เพราะเป็นเงินก้อนใหญ่"
ณ วันที่ 31 ม.ค. 2557 ที่ผ่านมา สถานะการลงทุนของพอร์ตกองทุนวายุภักษ์ 1 นั้น หุ้น 5 อันดับแรกที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด ได้แก่ หุ้น ปตท. 45.88% หุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ 45.74% หุ้นธนาคารกรุงไทย 3.40% หุ้นการบินไทย 1.82% และหุ้นปูนซีเมนต์นครหลวง 0.62%
ส่วนการลงทุนในตราสารแห่งหนี้ เงินฝาก และตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน โดยลงทุนในพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย 21.54 ล้านบาท เงินฝากในธนาคารกสิกรไทย 1,221.26 บาท และธนาคารออมสิน 150.4 ล้านบาท ดังนั้นรวมลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝากรวม 127.88 ล้านบาท
ชี้เป็นไปได้ยากขายหุ้นไปซื้อพันธบัตร
แหล่งข่าวอดีตผู้จัดการกองทุนวายุภักษ์ เปิดเผยว่า ช่องทางที่จำนำเงินกองทุนวายุภักษ์ที่มีอยู่ประมาณ 2.5-2.6 แสนล้านบาท นำไปซื้อพันธบัตรในโครงการรับจำนำข้าว เป็นไปได้ยากมาก และเชื่อว่าไม่น่าจะสามารถทำได้ เพราะสภาพคล่องของกองทุนวายุภักษ์ที่เป็นเงินสดเหลืออยู่น้อยมาก เมื่อเทียบกับความต้องการระดมทุนของกระทรวงการคลัง และเชื่อว่ากระทรวงการคลังไม่น่าจะออกพันธบัตรได้ เพราะต้องค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งรัฐบาลรักษาการไม่สามารถทำได้
ส่วนช่องทางที่เป็นไปได้คือ การขายหุ้นที่กองทุนวายุภักษ์ถืออยู่ ซึ่งขณะนี้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (เอ็นเอวี) ณ ราคาตลาดอยู่ที่ประมาณ 2.5-2.6 แสนล้านบาท สามารถทำได้ เพราะยังมีหุ้นนอกเหนือจากที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่กองทุนวายุภักษ์ถืออยู่ และกองทุนวายุภักษ์สามารถลดสัดส่วนการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจ อย่าง ปตท. การบินไทย กรุงไทย ลง แต่จะต้องไม่ต่ำกว่า 51% เพื่อรักษาความเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนหุ้นแบงก์ที่ถือในช่วงหลังวิกฤติปี 2540 ที่กระทรวงการคลังเข้าไปซื้อ เพื่อพยุงฐานะ หากมีความจำเป็นก็สามารถขายออกมาได้ เพื่อนำไปคืนหนี้จำนำข้าว
ระบุคลังขายหุ้นได้เต็มที่5-6หมื่นล้าน
แหล่งข่าวอดีตผู้จัดการกองทุนวายุภักษ์ ให้ความเห็นว่า หากกระทรวงการคลังขายหุ้นที่ถืออยู่ และลดสัดส่วนถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจ โดยรักษาสัดส่วนการถือหุ้นไว้ไม่ต่ำกว่า 51% ตามที่กฎหมายกำหนด คาดว่าจะได้เงินประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท " รัฐบาลต้องใช้ช่องทางนี้ (ขายหุ้น) เพื่อนำเงินไปคืนหนี้ชาวนา แต่สิ่งที่ต้องการเห็นคือ การระบายข้าว มีข้าวเท่าไร ก็เร่งขาย เพื่อนำไปคืนหนี้ชาวนามากกว่า เพราะสถานการณ์ตลาดหุ้นในขณะนี้ไม่เอื้อ เพราะหากมีการขายออกมา อาจกระทบกับดัชนีตลาดหุ้น และราคาหุ้นที่ขายก็ได้ต่ำ"แหล่งข่าวกล่าว
ขณะที่แหล่งผู้จัดการกองทุนวายุภักษ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อจากกระทรวงการคลัง เพื่อให้เข้าไปซื้อพันธบัตร ที่เตรียมมาใช้ระดมเงินคืนหนี้ให้กับเกษตรกร แต่ถ้าออกมาจริง สภาพคล่องของกองทุนวายุภักษ์ที่เหลือเป็นเงินสดในขณะนี้มีเพียง 3,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าไม่เพียงพอกับความต้องการของรัฐบาล ส่วนการขายหุ้นที่กองทุนวายุภักษ์ถืออยู่ในรัฐวิสาหกิจ และหุ้นธนาคารพาณิชย์ที่ถือไว้ตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจ สามารถทำได้ แต่ยังไม่มีการเสนอเรื่องมา แต่ถ้าหากเสนอมาจะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการการลงทุน
"สิ่งที่ห่วงในขณะนี้คือ หากขายหุ้นออกมาจริง อาจส่งผลกระทบกับดัชนีตลาดหุ้นไทย และถือว่าจังหวะไม่เหมาะสม และอาจได้ราคาที่ต่ำกว่าพื้นฐาน"
แหล่งข่าวผู้จัดการกองทุนวายุภักษ์ ยอมรับว่า ทางออกทั้ง 2 ทางในการนำเงินกองทุนวายุภักษ์ไปคืนหนี้จำนำข้าว ถือว่ามีข้อจำกัด เพราะถ้าออกเป็นพันธบัตร กระทรวงการคลังต้องค้ำประกัน ซึ่งแน่นอนว่า แนวทางนี้ปิดประตูตาย เพราะไม่สามารถทำได้ ขณะที่กองทุนวายุภักษ์ มีเงินสดเหลือเพียง 3,000 ล้านบาท เท่านั้น ขณะที่การขายหุ้นออกมา ในช่วงนี้ จังหวะตลาดก็ไม่เอื้อ อาจส่งผลกระทบดัชนีตลาดหุ้น และราคาหุ้นในกระดาน
http://www.bangkokbi...ì¨èÒ¨ӹӢéÒÇ.html
แนวทางอุบาทว์กว่ากู้เงินอีก
ขายสมบัติชาติเลยนะเนี่ย
ทำไมมันคิดกันเป็นแต่เรื่องเลวๆ
หากขายหุ้น ที่มีอยู่ในมือก็เท่ากับ รัฐบาลไม่เป็นเสียงใหญ่
วันหลังจะคุมยังไง
Edited by a.mtvv, 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 - 12:14.