ผ่านพ้นไปแล้วกับการตัดสินของศาลโลก กรณีที่กัมพูชาขอให้ตีความคำตัดสินในปี พ.ศ. 2505 เรื่องอาณาเขตของปราสาทพระวิหาร โดยสรุปแล้วศาลมีคำตัดสินอยู่ 3 ส่วน คือ 1.ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าว 2.ศาลไม่รับรองมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2505 ที่ไทยไปล้อมรั้วลวดหนามรอบพื้นที่ตัวปราสาท แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ยอมรับคำกล่าวอ้างของกัมพูชา ที่บอกว่าพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ภูมะเขือเป็นส่วนหนึ่งของปราสาทพระวิหาร และ 3.ศาลให้ไทยกับกัมพูชา ไปช่วยกันดูแลปราสาทพระวิหาร ในฐานะที่เป็นมรดกโลก
ภายหลังศาลโลกอ่านคำตัดสิน กระแสวิพากษ์วิจารณ์ส่วนใหญ่มองว่าไทยนั้นเสมอตัว เพราะตัวปราสาทนั้นเราได้ยอมรับมติของศาลโลกไปแล้วตั้งแต่เมื่อ 50 ปีก่อน คำตัดสินครั้งนี้เป็นเพียงการกล่าวย้ำให้ชัดเจนเท่านั้น ดังนั้นไทยจึงไม่เสียดินแดนเพิ่ม แม้กระทั่งคนของฟากฝั่งรัฐบาล ก็ยังมองว่าไทยอาจเป็นฝ่ายชนะเสียด้วยซ้ำ เพราะข้อเรียกร้องของกัมพูชาไม่ได้รับการตอบสนอง และศาลก็ชี้ว่าพื้นที่ที่ไทยต้องถอยออกมานั้น “เล็กมาก” จนไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงกังวล
คำถามคือ..เราไม่เสียอะไรเลยจริงหรือ?
ไทยแพ้หมดทุกประเด็น?
ไม่นานมานี้ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 7/2556 อธิบายคำตัดสินดังกล่าว และสรุปว่า “ไทยแพ้คดี แพ้หมดทุกประเด็น และต้องเสียดินแดน” โดย นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ไล่เลียงทีละประเด็นไว้ดังนี้
1.การแก้คดีและคำแถลงปิดคดีของไทย ที่ขอให้ศาลชี้ว่าคดีนี้ไม่มีมูลที่จะตีความใหม่ ศาลไม่มีอำนาจ คำร้องกัมพูชารับฟังไม่ขึ้น กรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับเส้นเขตแดนต้องทำภายใต้บันทึกความเข้าใจ 2543 (MOU 2543) ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้ข้อยุติหรือทุกอย่างอาจเลวร้ายลง ถ้าปล่อยให้กัมพูชาอ้างเส้นเขตแดนตามแผนที่ภาคผนวก 1 (ANNEX I) ที่มีความคลาดเคลื่อน..ในประเด็นนี้ ศาลโลกระบุว่ามีอำนาจพิจารณาคดี ดังนั้นแล้ว ข้อโต้แย้งของรัฐบาลไทยในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้ว่าไม่มีเขตอำนาจนั้น จึงเป็นอันตกไป
ไทยแพ้แล้วในประเด็นแรก
2.ตามคำพิพากษาของศาลโลกเรื่องปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 ที่ตกเป็นของประเทศกัมพูชา แต่ไม่ครอบคลุมเขตพื้นที่รอบข้างปราสาท ซึ่งทางฝ่ายไทยอ้างว่าได้เฉพาะตัวปราสาท จึงได้ทำการล้อมรั้วและปักกันเขตแดนไว้ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2505 ตลอดมา จนกระทั่งเมื่อกัมพูชาผ่านพ้นภัยสงครามในบ้าน ก็ได้อ้างพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ว่าอยู่ในเขตของกัมพูชา
โดยอ้างถึงแผนที่ที่ฝรั่งเศสทำไว้ และอ้างว่าการถือครองพื้นที่โดยมีกำลังทหาร-ตำรวจ ประจำตามเขตอาณาบริเวณปราสาทพระวิหารของประเทศไทย เป็นการรุกล้ำอธิปไตยของกัมพูชานั้น ศาลโลกในคดีนี้พิพากษาให้ประเทศกัมพูชาได้ดินแดนเพิ่มขึ้น คือส่วนที่เป็นจะงอยหรือเป็นแหลมหรือเป็นชะง่อนผา (Promontory)
ปัญหาคือ..ส่วนที่ยื่นออกไปตามที่ศาลโลกมีคำตัดสินนี้มีเนื้อที่จริงๆ เท่าไร? อาจจะอยู่ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร ซึ่งก็ไม่ใช่พื้นที่เล็กน้อย แสดงว่าคำฟ้องของประเทศกัมพูชาที่ขอมาในเรื่องนี้ประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร นั้นได้ไป 1 ตารางกิโลเมตร เท่ากับว่าประเด็นนี้กัมพูชาชนะคดีบางส่วน
“สมมุติว่า 4.6 เราเสียไป 1 ตารางกิโลเมตร แสดงว่ากัมพูชาชนะ เรียกว่าได้ไม่เต็มฟ้อง..สมมุติถ้าเป็นทนายความ ฟ้อง 4.6 ล้าน ได้มา 1 ล้าน ชนะไหมครับ? ชนะครับเราแพ้ไหม? ก็แพ้สิ จะแพ้มากแพ้น้อยก็เท่านั้นเอง แต่อย่ามาบอกว่ากัมพูชาไม่ได้ตามที่ฟ้อง เขาได้อะไรติดมือไปหมดแล้วครับ” คุณเดชอุดม ระบุ
ไทยแพ้อีกในประเด็นที่สอง
3.อีกประการหนึ่งที่ยังมีความคลุมเครือและไม่ชัดเจน คือศาลโลกได้พิพากษาก้าวข้ามไปถึงที่พิพาทบริเวณต่อเนื่องกับปราสาทพระวิหาร ของกัมพูชา ซึ่งเป็นมรดกโลกในอุปถัมภ์ของ UNESCO โดยได้พิพากษาเลยไปถึงว่าให้ประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ช่วยกันดูแลเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์มรดกโลกของประเทศกัมพูชา แสดงว่าภูเขาซึ่งเป็นเขตแดนไทยนั้นต้องเป็นที่รับใช้ในการตั้งปราสาทพระ วิหาร รวมถึงการใช้ปราสาทพระวิหาร เพื่อประโยชน์ของคนกัมพูชาไปโดยปริยาย
เท่ากับว่า..ไทยก็ยังแพ้ในทางอ้อม (พฤตินัย) ในประเด็นที่สาม
“เราเหลือ 3.6 ตารางกิโลเมตร ตรงนี้ก้าวล่วงไปถึงไทยกับกัมพูชาต้องเจรจากัน เพื่อให้ความคุ้มครองมรดกโลกคือปราสาทพระวิหารของกัมพูชา ที่เขาไปขึ้นทะเบียนคนเดียว นั่นหมายความว่า บ้านของเรา ภูเขาของเรา แต่ศาลโลกกลับให้กัมพูชามาเจรจากับเรา บอกว่าขอให้ช่วยกันอนุรักษ์
ดีไหมครับ? ถ้ามีคนมาสร้างบ้านบนชั้น 3 ของท่าน แล้วบอกว่าท่านที่อยู่ชั้นล่างต้องช่วยกันอนุรักษ์ด้วย นี่คือผลของคำพิพากษาในทางอ้อม สื่อทั่วโลกเขาถึงออกข่าวว่าไทยแพ้ ที่ศาลแนะนำให้ไทยกับกัมพูชาร่วมกันพัฒนาปราสาท แล้วปราสาทของใคร? ใครได้ผลประโยชน์? ไทยหรือครับ? ไทยได้อะไร? ได้ค่าผ่านทางไหม? ต้องอนุญาตให้เขาทำทางขึ้นไปชมปราสาทไหม?”
นายกสภาทนายความ ตั้งข้อสังเกต พร้อมทั้งตั้งคำถามต่อไปว่า ที่ศาลโลกอยากให้ไทยกับกัมพูชาไปพูดคุยเจรจากันเองนั้นจะประสบความสำเร็จ หรือไม่? และในความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา หรือทนายความที่เป็นชาวต่างประเทศในคดีนี้ เข้าใจบริบทความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชามากน้อยเพียงใด?
แนะรัฐบาลใช้ ‘มาตรา 190’
จาก 3 ประเด็น ไม่ว่าอย่างไรก็ตามย่อมไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่น นอกจากไทยแพ้หมดในทุกกรณี ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำต่อไป คือต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ซึ่งรัฐบาลควรใช้กรอบของ มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ระบุให้การเจรจาใดๆ ระหว่างรัฐบาลไทยกับต่างประเทศ หากการเจรจานั้นจะมีผลในทางปฏิบัติ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อน แน่นอนว่ากระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่นานาประเทศล้วนใช้กันทั้งสิ้น
“หลักการนี้ถือปฏิบัติกันทั่วโลก รวมทั้งในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีไปเซ็นลงนามอะไรก็ได้ ก็ยังไม่ผูกพันในนามรัฐบาลอเมริกา จนกว่ารัฐสภาจะอนุมัติ เพราะฉะนั้นการที่เขากำลังจะขอแก้ไขกฎหมาย มีสมาชิกรัฐสภาขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ท่านต้องพึงสังวรณ์อย่างมาก ว่าท่านไม่มีผู้ช่วยข้างหลังเลย ท่านไปเจรจา ท่านไปทำอะไรอย่างที่เห็นกันนี้
เราเคยเสียหายมามากแล้ว ทำไมท่านไม่ใช้กลไกที่นานาประเทศเขาใช้กัน ท่านกลับจะแก้ไขมาตรา 190 เพื่อให้ท่านทำอะไรก็ได้อย่างนั้นหรือ? สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คาใจครับเราไม่ได้หวงห้ามไม่ให้ท่านทำสัญญานายกสภา ทนายความ กล่าวทิ้งท้าย
คดีปราสาทพระวิหาร ท้ายที่สุดประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยเมื่อปี 2505 คือเราแพ้และต้องเสียดินแดนอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นทางตรง กรณีพื้นที่ใกล้เคียงที่อาจจะกว้างถึง 1 ตารางกิโลเมตร หรือทางอ้อมในกรณีพื้นที่ต่อจากนั้น ที่ไทยกับกัมพูชาต้องพัฒนาร่วมกันในกรอบของ UNESCO นี่คือความจริงที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลต้องกล้าที่จะบอกความจริงข้อนี้กับประชาชน ในฐานะเจ้าของประเทศให้ทราบ และการเจรจาใดๆ หลังจากนี้ ควรต้องฟังความเห็นอย่างรอบด้านทั้งจากรัฐสภาตามกลไกรัฐธรรมนูญ และจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรอบคอบที่สุด
จะได้ไม่ต้อง “แพ้ซ้ำซาก” เป็นรอบที่ 3 อีก
http://www.naewna.com/scoop/77853