มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยผลสำรวจพบหนี้ครัวเรือนพุ่ง 12% ทุบสถิติสูงสุดในรอบ 5 ปี เร่งตัวเร็ว-กว่าครึ่งพึ่งแหล่งเงินกู้นอกระบบ
นายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลการสำรวจ สถานภาพหนี้ภาคครัวเรือน ว่า กลุ่มตัวอย่าง 64.6% ตอบว่า มีหนี้สิน โดยจำนวนหนี้เฉลี่ยครัวเรือนของปี 2556 ขึ้นมาอยู่ที่ 188,774.54 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 12% จากเฉลี่ยของปี 2555 ที่อยู่ที่ 168,517.16 บาทต่อครัวเรือน เป็นอัตราการเพิ่มด้วยตัวเลข 2 หลัก และสูงที่สุดตั้งแต่การสำรวจช่วง 5 ปี หรือตั้งแต่ปี 2551-2556 ในจำนวนหนี้ 188,774.54 บาท เป็นหนี้ในระบบ สัดส่วน 50.4% และ หนี้นอกระบบ 49.6% โดยมีการผ่อนชำระเดือนละ 11,671.93 บาท
"จำนวนหนี้ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12% ถือว่าเป็นการขยายตัวในอัตราที่เร่งพอสมควรจากที่เคยขยายตัวด้วยตัวเลขหลักเดียว และพบว่าเป็นหนี้นอกระบบที่เพิ่มมากขึ้น" นายวชิร กล่าว
ทั้งนี้ ปี 2551 หนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 135,166.34 บาท เป็นหนี้ในระบบ 65% นอกระบบ 35%, ปี 2552 เฉลี่ย 147,542.15 บาท เป็นหนี้ในระบบ 52.4% นอกระบบ 47.6%, ปี 2553 เฉลี่ย 151,432.74 บาท เป็นหนี้ในระบบ 53.4% นอกระบบ 46.6%, ปี 2554 เฉลี่ย 159,432.23 บาท เป็นหนี้ในระบบ 54.2% นอกระบบ 45.8%, ปี 2555 เฉลี่ย 168,517.16 บาท เป็นหนี้ในระบบ 53.6% นอกระบบ 46.4% และ ปี 2556 เฉลี่ย 188,774.54 บาท เป็นหนี้ในระบบ 50.4% นอกระบบ 49.6%
นายวชิร กล่าวว่า เมื่อถามถึงการเป็นหนี้สินและการเปลี่ยนแปลงของหนี้ พบว่าในปี 2555-2556 มีการก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นถึง 10% จากตัวเลขสถิติในปีที่ผ่านมาไม่พบว่ามีการก่อหนี้เพิ่มเมื่อเทียบกับปีก่อน และเมื่อจำแนกกลุ่มผู้ก่อหนี้ตามรายได้ จะพบว่ากลุ่มที่รายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน จะมีสัดส่วนการก่อหนี้นอกระบบถึง 50% ขณะที่กลุ่มรายได้ 5,000-15,000 บาท จะมีทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบใกล้เคียงกันที่ 442-44% ส่วนกลุ่มที่รายได้เกิน 15,000 บาท พบว่าส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ในระบบ 43-46%
สาเหตุที่ทำให้หนี้เพิ่มขึ้น อันดับแรก มาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น มีถึง 23.3% รองลงมาค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน 22% การซื้อสินทรัพย์ถาวร เช่น บ้าน รถ 13.5% ซึ่งเมื่อเปรียบค่าครองชีพกับรายได้ในปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่าง 72.1% ระบุว่าค่าครองชีพสูงเกินไป โดยข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการแก้ไขหนี้ครัวเรือน อันดับแรกให้ลดค่าครองชีพลงมา ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยบัตรเครดิต และดูแลราคาก๊าซและน้ำมันไม่ให้สูงเกินไป
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า ขณะนี้มีสัญญาณชี้ชัดว่าเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลง ซึ่งจากผลสำรวจฯ พบว่า มีประชาชนถึง 80-90% ระบุว่าซื้อสินค้าน้อยลงหรือซื้อเท่าเดิม แต่ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากสินค้าแพงขึ้น ขณะเดียวกัน การก่อหนี้ใหม่ปีนี้ที่เพิ่มขึ้นถึง 10% และเป็นหนี้นอกระบบมากขึ้น ทำให้น่าเป็นห่วง
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีสัญญาณการชะลอตัวลงไปเรื่อยๆ หากไม่มีมาตรการใดๆ มากระตุ้น การบริโภคจะชะลอไปถึงไตรมาส 4 ยิ่งจะส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงไปอีก ซึ่งศูนย์ฯ จะมีการแถลงปรับตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้งในวันที่ 8 ก.ค. จากที่คาดว่าจะขยายตัว 4-5% และหากรัฐบาลจะมีมาตรการใดๆ ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ควรจะเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในไตรมาส 3 เพื่อพยุงไม่ให้เศรษฐกิจตกต่ำไปมากกว่านี้
นายธนวรรธน์ กล่าวถึงกรณีที่ รัฐบาลจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า การปรับ ครม. มี 2 กรณี คือ กรณีแรก ปรับเพื่อทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลนี้ดีขึ้น และ กรณีที่สอง ปรับเพื่อสลับสับเปลี่ยนตำแหน่ง ให้คนที่ทำงานอยู่เบื้องหลังในพรรคได้ขึ้นมาเป็นผู้บริหารบ้าง
อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังมานี้ คะแนนนิยมในตัวรัฐบาลน้อยลง โดยเฉพาะจากปัญหาจากโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐบาลมีคะแนนนิยมลดลงจริง และเมื่อมีการปรับลดราคารับจำนำ ยังสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มชาวนาอีก ซึ่งแน่นอนว่า การปรับ ครม. ครั้งนี้ เกี่ยวเนื่องจากนโยบายจำนำข้าว และหากจะมีการเปลี่ยน รมว.พาณิชย์ จาก นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ก็มาจากปัญหาจำนำข้าว ซึ่งต้องรอดูว่ารัฐบาลจะปรับหรือไม่ และคนใหม่ที่เข้ามา จะเป็นใคร
"เชื่อว่า...รัฐบาลปรับ ครม. รอบนี้ คงปรับแบบสุดๆ จริงๆ เพื่อให้ประชาชนยอมรับ แต่ถ้าปรับแล้วเกิดเสียง "ยี้" อีก ก็คงไม่ได้ประโยชน์อะไร ถ้าจะปรับแล้วคงต้อง "ถูกฝา ถูกตัว" ทุกกระทรวง" นายธนวรรธน์ กล่าว