ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ทรงรับขึ้นครองราชย์ สืบต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐานั้น
เดิมทีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ว่า พระองค์จะทรงครองราชสมบัติ เพียงชั่วขณะเวลาจัดงานพระบรมศพ ให้งดงามสมพระเกียรติเท่านั้น
เพราะพระชนมายุ 18 พรรษา ไม่ทำให้ทรงรู้สึกว่าจะมีกำลังพระทัย เป็นพระเจ้าแผ่นดินไปได้ตลอด
การสูญเสียพระบรมเชษฐาธิราชที่ทรงรักและใกล้ชิดสนิทสนมกันมาตลอดเวลาอย่างกะทันหัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ไม่เคยเตรียมพระราชหฤทัย และกำลังพระวรกายมาสำหรับหน้าที่นี้เลย
แต่แล้วมีเหตุการณ์หลายครั้งหลายคราว ที่ประชาชนแสดงความจงรัก ภักดีต่อพระองค์ ดังเช่นในวันเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิตฯ ขณะประทับรถพระที่นั่งไปสู่สนามบินดอนเมือง ทรงได้ยินเสียงตะโกนดังๆ ว่า
“ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน”
ทำให้ทรงนึกตอบบุคคลผู้นั้นในพระราชหฤทัยว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้”
จิรภา อ่อนเรือง เขียนไว้ในหนังสือ พระสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงของเรา) ว่า ขณะนั้นพระเจ้าอยู่หัวจะทรงรับครองราชสมบัติแล้ว แต่ประชาชนก็ยังลังเลใจ ไม่แน่ว่าพระองค์จะครองแผ่นดินไปโดยตลอดหรือไม่
ระหว่างงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ในทุกวันที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไป ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จะมีประชาชนมารอรับเสด็จอย่างแน่นขนัด ที่ 2 ข้างทาง
ขณะนั้นมีข่าว ในช่วงเวลาแห่งความเศร้าโศกนี้ สมเด็จพระราชชนนีไม่สนพระทัยไยดีแม้ต่อพระกระยาหาร ยิ่งได้เห็นภาพพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ทรงพระกันแสงอยู่เกือบตลอดเวลาในงานพระบรมศพ
ประกอบกับข่าวพระเจ้าอยู่หัวผู้ล่วงลับถูกลอบปลงพระชนม์ ก็ยิ่งมีแต่ทำให้คนไทยทั้งปวง เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจหนัก
มีอยู่วันหนึ่งได้มีประชาชนคนหนึ่งที่มารอเฝ้าฯอยู่ ได้กราบถวายบังคมทูลขึ้นว่า “ต่อไปนี้ไม่มีในหลวงแล้ว”
พระองค์จึงทรงมีรับสั่งตอบ ปลอบใจประชาชนไปว่า “ในหลวงยังอยู่...พระอนุชาต่างหากไม่มีแล้ว “
มีข้อมูลที่บันทึกไว้ว่า ก่อนวาระแห่งความโศกเศร้าเหล่านั้น...9 มิ.ย.รัฐสภาได้เปิดประชุมในเวลากลางคืน ลงมติเห็นชอบว่า ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบพระราชสันติติวงศ์
ให้สมเด็จพระอนุชา เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่
ในขณะนั้นหลายฝ่ายต่างวิตกกังวลกันว่า สมเด็จพระราชชนนีอาจจะไม่ทรงยินยอมให้สมเด็จพระอนุชารับราชสมบัติ จนเมื่อเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้า
กราบบังคมทูลสมเด็จพระราชชนนีว่า สมเด็จพระอนุชามีสิทธิในราชบัลลังก์นั้น สมเด็จพระราชชนนีก็ได้ตรัสถามพระราชโอรสว่า “รับไหมลูก”
สมเด็จพระราชโอรส ตรัสสั้นเพียงว่า “รับ”
บรรดาผู้อยู่ในที่ประชุมนั้น จงพร้อมใจกราบถวายบังคม
นี่คือบางส่วนของเรื่องราวในบทที่ 21 จากหนังสือเอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ (พิมพ์ครั้งที่ 1 ส.ค.2553 พิมพ์ครั้งที่ 2 มิ.ย.255 รวม 105,000 เล่ม) ที่วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย รวบรวมและเรียบเรียงเอาไว้
หนังสือเล่มนี้ แท้จริงแล้วเป็นบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทย เริ่มแต่วันเปลี่ยนแปลงการปกครองจนปัจจุบัน...มีเจตนาให้คนไทยทุกคนได้อ่าน...จึงหาอ่านได้ จากโรงเรียน วัด ห้องสมุด และหน่วยราชการสำคัญทุกแห่ง...
อ่านแล้วความเคลือบแคลงสงสัย บางประการ ที่เคยมี ก็จะคลี่คลาย จนกระจ่างสว่างใจ...ประเทศไทยเรามีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม ผ่านหนาวร้อนเคียงคู่มากับประชาชน
อ่านแล้วจะยิ่งแน่ใจ พระเจ้าอยู่หัวของคนไทย ไม่เคยทิ้งประชาชน ไม่ว่าเวลาใด เวลาที่ทรงมีพระพลานามัยเข้มแข็ง หรือเวลาที่ทรง พระประชวร.
กิเลน ประลองเชิง
ไทยรัฐออนไลน์
โดย กิเลน ประลองเชิง
4 ธันวาคม 2555, 05:00 น.
- ตะนิ่นตาญี and kwan_kao like this