เผื่อเพื่อนๆท่านใดต้องการอ่าน บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เรื่องเสร็จที่ 566/2553 แบบละเอียดครับ
---------------------------------------------------------------------------------
เปิดกฤษฎีกาสอนมวย'สุกำพล'หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- อังคารที่ 13 พฤศจิกายน 2555 00:00:14 น.
http://www.ryt9.com/s/tpd/1528392หมายเหตุ : เนื้อหาบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่566/2553
เรื่องการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการทหารที่เกษียณอายุราชการแล้วในสมัย
คุณพรทิพย์ จาละ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
นำมาใช้ตอบโต้ พล.อ.อ.สุกำพล สวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการ
ถอดถอนยศนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป.
บันทึกสานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่อง การดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการทหาร
ที่เกษียณอายุราชการแล้ว
สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ กห 0201/930 ลงวันที่
1 มิถุนายน 2553 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า ตามที่
สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมได้ขอหารือปัญหาเกี่ยวกับการพิจารณาโทษทางวินัย
พลเอกนิพนธ์ ธีระพงษ์ นายทหารนอกราชการ กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า
การกระทำของพลเอกนิพนธ์ ขณะรับราชการในสังกัดกองทัพบกเป็นความผิดทางวินัย
อย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการและฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ซึ่งคณะ
กรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นไว้ในเรื่องเสร็จที่ 735/2551 ว่า การปลดข้าราชการทหาร
ออกจากประจำการ จะต้องเป็นข้าราชการทหารที่ประจำการอยู่ หากพ้นจากราชการแล้ว
ก็ไม่อาจปลดออกจากประจำการได้โดยสภาพ ดังนั้น ในกรณีที่กระทรวงกลาโหมพิจารณา
เห็นว่า สามารถดำเนินการปลดพลเอกนิพนธ์ออกจากประจำการได้ ก็จะต้องมีคำสั่งปลดออก
จากประจำการโดยให้มีผลย้อนหลังไป ถึงวันสุดท้ายของการรับราชการ ส่วนเรื่องการถอดยศ
ทหารนั้นเป็นเรื่องที่กระทรวงกลาโหมสามารถดำเนินการได้ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติ
ว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช 2476 ประกอบกับข้อ 2 แห่งระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วย
ผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ.2507 แม้พลเอก นิพนธ์จะพ้นราชการ
ไปแล้ว
สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมพิจารณาแล้วเห็นว่า ในทางปฏิบัติยังไม่ได้ข้อยุติ กล่าวคือ
จะปลดพลเอกนิพนธ์ซึ่งเกษียณอายุราชการไปแล้วออกจากราชการย้อนหลังได้หรือไม่
ด้วยกฎหมายใด อีกทั้งการปลดนายทหารชั้นนายพลออกจากประจำการและถอดออกจาก
ยศทหาร การดำเนินการต้องนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ และจะเป็นการ
มิบังควรหากต่อมามีการอุทธรณ์ต่อกรณีดังกล่าว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพิจารณา
ให้เป็นไปด้วยความถูกต้องและรอบคอบ จึงขอหารือเพิ่มเติมตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกา
วินิจฉัยไว้แล้ว ดังนี้
1....ในกรณีที่กระทรวงกลาโหมพิจารณาเห็นว่า สามารถดำเนินการปลดพลเอกนิพนธ์ออกจาก
ประจำการได้ ก็จะต้องมีคำสั่งปลดออกจากประจำการโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันสุดท้าย
ของการรับราชการ...นั้น กระทรวงกลาโหมต้องใช้ดุลพินิจเองว่า หากเป็นความผิดที่อยู่ใน
เกณฑ์ปลดออกจากราชการ ต้องปลดพลเอกนิพนธ์ออกจากราชการและ ให้มีผลย้อนหลัง
ไปถึงวันสุดท้ายของการรับราชการ แม้ว่าจะไม่มีกฎหมาย บัญญัติให้อำนาจกระทรวงกลาโหม
ไว้ ใช่หรือไม่
2....ส่วนเรื่องการถอดยศทหารนั้นเป็นเรื่องที่กระทรวงกลาโหมสามารถดำเนินการได้ตาม
มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช 2476 ประกอบกับข้อ 2 แห่ง
ระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์
พ.ศ.2507 แม้พลเอกนิพนธ์จะพ้นราชการไปแล้วนั้น กระทรวงกลาโหมสามารถดำเนินการ
ถอดพลเอกนิพนธ์ออกจากยศทหารได้โดยไม่ต้องรอผลทางคดีอาญา ใช่หรือไม่
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อหารือของสำนักงานปลัดกระทรวง
กลาโหมเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ
ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
กฤษฎีกา (คณะที่ 1) และพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช 2476 และกฎหมายอื่น
ที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการทหารซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2)
และเป็นการหารือปัญหาข้อกฎหมายต่อเนื่องจากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา(ที่ประชุม
ร่วมคณะที่ 1 และคณะที่ 2) ในเรื่องเสร็จที่735/2551 [1] ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาข้อหารือ
ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นไปด้วยความรอบคอบ จึงอาศัยอำนาจตามข้อ 12 [2]
แห่งระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าด้วยการประชุมของกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2522
จัดให้มีการประชุมร่วมกันของกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 และคณะที่ 2 เพื่อพิจารณาปัญหา
ข้อกฎหมายดังกล่าว
คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 และคณะที่ 2) ได้พิจารณาปัญหาดังกล่าว
โดยมีผู้แทนกระทรวงกลาโหม (สำนักงานปลัดกระทรวง) และผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช.
เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงว่า กระทรวงกลาโหมไม่เคยสั่งพักราชการ
พลเอกนิพนธ์ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการทหารพักราชการ
พ.ศ.2528 และยังไม่ได้ดำเนินการทางวินัยแก่พลเอกนิพนธ์ ตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อให้นายกรัฐมนตรีสั่งการ
ตามที่เห็นสมควร ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ปลัดกระทรวงกลาโหมดำเนินการทางวินัย
แก่พลเอกนิพนธ์ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด
คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 และคณะที่ 2) พิจารณาแล้วมีความเห็น
ในแต่ละประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่า ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามเรื่องเสร็จที่735/2551
มิได้มีความหมายดังที่กระทรวงกลาโหมเข้าใจ หากแต่มีความหมายว่า ตามความเห็น
ของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น กระทรวงกลาโหมไม่มีอำนาจที่จะปลดพลเอกนิพนธ์
ออกจากประจำการภายหลังจากที่พลเอกนิพนธ์ได้ออกจากประจำการไปแล้ว แต่ตาม
คำถามของกระทรวงกลาโหมในเรื่องดังกล่าวกระทรวงกลาโหมถามเพียงว่าจะปลด
พลเอกนิพนธ์ออกจากประจำการย้อนหลังไปถึงวันสุดท้ายของการรับราชการได้หรือไม่
ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า ถ้ากระทรวงกลาโหมเห็นว่าตน
มีอำนาจที่จะปลดออกจากประจำการได้ ก็ต้องปลดออกโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันสุดท้าย
ของการรับราชการ ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 และคณะที่ 2)
ยังคงมีความเห็นเดิม กล่าวคือ เห็นว่ากระทรวงกลาโหมไม่มีอำนาจที่จะปลดพลเอกนิพนธ์
ออกจากประจำการภายหลังจากที่พลเอกนิพนธ์ออกจากประจำการไปแล้วได้ เนื่องจาก
มาตรา57 [3] แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม
การทุจริต พ.ศ.2542 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวน
ข้อเท็จจริงเพื่อจะดำเนินคดีอาญาดำเนินการทางวินัย หรือขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
ต่อไปได้ แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะพ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากราชการเพราะเหตุใดๆ นอกจาก
ถึงแก่ความตาย มิใช่เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาที่จะดำเนินการทางวินัยแก่
ผู้ถูกกล่าวหาต่อไปได้ การจะดำเนินการทางวินัยตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เพียงใด
และอย่างใด ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่ใช้กับข้าราชการที่จะถูกดำเนินการ
ทางวินัย ส่วนมาตรา 92 [4] และมาตรา 93 [5] แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
การป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ เป็นแต่เพียงบทบัญญัติที่ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษ
ทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหาตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้ง
คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอีกเท่านั้น เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.
2497 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ.2521 พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร
พุทธศักราช 2476 ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการบรรจุ ปลด ย้าย เลื่อนและลดตำแหน่ง
ข้าราชการกลาโหม พ.ศ.2502 มติสภากลาโหมในการประชุมครั้งที่ 3/07 เมื่อวันที่26 มิถุนายน
2507 ประกอบกับคำสั่งกองทัพบก ที่ 176/2508 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2508 เรื่องการหมุนเวียน
กำลังพล ที่กำหนดเหตุแห่งการปลดออกจากประจำการแล้ว ไม่พบว่ามีบทบัญญัติกำหนดให้
ผู้บังคับบัญชามีอำนาจปลดทหารผู้กระทำผิดวินัยออกจากประจำการได้ในกรณีที่ทหารผู้นั้น
ออกจากราชการไปแล้ว ยกเว้นกรณีตามข้อ 5 [6] และข้อ 7 [7] แห่งข้อบังคับกระทรวงกลาโหม
ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการทหารพักราชการ พ.ศ.2528 ที่ให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งพักราชการ
ข้าราชการทหารผู้ถูกฟ้องคดีอาญาหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา ตลอดเวลาที่คดียังไม่ถึง
ที่สุดหรือตลอดเวลาที่พิจารณาสอบสวน ซึ่งหากปรากฏภายหลังว่าข้าราชการทหารผู้นั้นได้
กระทำความผิด ให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งให้ออกจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ
โดยให้สั่งให้ออกตั้งแต่วันสั่งพักราชการได้
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ากระทรวงกลาโหมไม่เคยสั่งพักราชการ พลเอกนิพนธ์ตามข้อบังคับ
กระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการทหารพักราชการฯ ประกอบกับการปลดข้าราชการ
ทหารออกจากประจำการ จะต้องเป็นข้าราชการทหารที่ประจำการอยู่ หากพ้นจากราชการแล้ว
ก็ไม่อาจปลดออกจากประจำการได้โดยสภาพ ด้วยเหตุนี้กระทรวงกลาโหมจึงไม่สามารถปลด
พลเอกนิพนธ์ออกจากประจำการได้
ประเด็นที่สอง ในเรื่องการถอดยศพลเอกนิพนธ์นั้นเมื่อมาตรา7 [8] แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วย
วินัยทหารฯ ประกอบกับข้อ 2 [9] แห่งระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่
ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ.2507 และคำสั่งกระทรวงกลาโหม (ชี้แจง) ที่ 3/17275 เรื่อง
การถอดหรือการออกจากยศทหาร ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2501 กำหนดให้ทหารที่กระทำผิด
ต่อวินัยทหารอาจถูกถอดจากยศทหารได้ และโดยที่ยศทหารเป็นยศที่ติดตัวทหารไม่ว่าจะอยู่
ในประจำการหรือนอกประจำการ การถอดยศทหารจึงสามารถกระทำได้แม้ทหารผู้นั้นจะออกจาก
ประจำการแล้ว ส่วนจะต้องรอผลคดีอาญาให้ถึงที่สุดหรือไม่ ย่อมต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่
กำหนดไว้ในข้อ4 [10] แห่งระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศทหาร
และบรรดาศักดิ์ฯ ซึ่งกำหนดให้กรณีเฉพาะข้อ 2.1 ข้อ 2.2 และ ข้อ 2.3 เท่านั้นที่จะต้องถอดยศ
ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ส่วนกรณีอื่นระเบียบดังกล่าวมิได้กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้
ดังนั้น หากกระทรวงกลาโหมจะดำเนินการถอดยศของพลเอกนิพนธ์ โดยอาศัยเหตุตามข้อ
2.9 [11] คือ ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง กระทรวงกลาโหมย่อมสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้อง
รอผลคดีอาญาให้ถึงที่สุดเสียก่อน
เชิงอรรถ : [1] บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องการดำเนินการทางวินัยแก่
ข้าราชการทหารที่พ้นจากราชการด้วยเหตุเกษียณอายุราชการและมีสิทธิรับบำนาญ
ส่งพร้อมหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ นร 0905/1100 ลงวันที่ 30 กันยายน
2551 ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
[2] ข้อ 12 ในกรณีที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะในหลายด้านหรือต้องการความ
รอบคอบในการพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาอาจขอให้
กรรมการกฤษฎีกาสองหรือสามคณะมาประชุมปรึกษาหารือร่วมกันเป็นกรณีพิเศษก็ได้
ในการประชุมตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานกรรมการกฤษฎีกาซึ่งมีอาวุโสที่สุดเป็นประธาน
ในที่ประชุม และต้องมีกรรมการกฤษฎีกามาประชุมไม่น้อยกว่าหกคนโดยต้องเป็นกรรมการ
กฤษฎีกาจากทุกคณะที่ได้เชิญประชุม จึงจะเป็นองค์ประชุม เว้นแต่ในการวินิจฉัยประเด็น
สำคัญ ประธานในที่ประชุมจะให้รอการวินิจฉัยประเด็นนั้นจนกว่าจะมีกรรมการกฤษฎีกา
มาประชุมมากกว่าหกคนก็ได้
[3] มาตรา 57 ในระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง หากปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่ง
หรือพ้นจากราชการเพราะเหตุใดๆ นอกจากถึงแก่ความตาย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.
มีอำนาจดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อจะดำเนินคดีอาญาดำเนินการทางวินัย หรือขอให้
ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน แล้วแต่กรณี ต่อไปได้
ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากราชการอันเนื่องมาจากความตายให้คณะ
กรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
ต่อไปได้
[4] มาตรา 92 ในกรณีมีมูลความผิดทางวินัย เมื่อคณะกรรมการป.ป.ช. ได้พิจารณาพฤติการณ์
แห่งการกระทำความผิดแล้วมีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาผู้ใดได้กระทำความผิดวินัย ให้ประธานกรรมการ
ส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่ พร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้ง
ถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.
ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก ในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูก
กล่าวหา ให้ถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวน
ทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัย ตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหาร
งานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้นๆ แล้วแต่กรณี ฯลฯ
[5] มาตรา 93 เมื่อได้รับรายงานตามมาตรา92 วรรคหนึ่งและวรรคสามแล้ว ให้ผู้บังคับบัญชา
หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนพิจารณาลงโทษภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องและ
ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนส่งสำเนาคำสั่งลงโทษดังกล่าวไปให้คณะ
กรรมการ ป.ป.ช. ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ออกคำสั่ง
[6] ข้อ 5 ข้าราชการทหารผู้ใดถูกฟ้องคดีอาญาหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา เว้นแต่
ความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือมีกรณีที่ต้องหาว่ากระทำผิดวินัย
อย่างร้ายแรง ถูกสอบสวนเพื่อลงทัณฑ์สถานหนักถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่าจะให้คงอยู่ใน
หน้าที่ราชการระหว่างพิจารณาหรือสอบสวนจะเป็นการเสียหายแก่ราชการก็ให้สั่งพักราชการ
ตั้งแต่วันที่ออกคำสั่งนั้น
[7] ข้อ 7 การให้พักราชการนั้น ให้พักตลอดเวลาที่คดียังไม่ถึงที่สุด หรือตลอดเวลาที่
สอบสวนพิจารณาเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วหรือสอบสวนพิจารณาเสร็จแล้ว ฯลฯ
7.3 ถ้าปรากฏว่าผู้ถูกสั่งให้พักราชการได้กระทำความผิด ให้ผู้บังคับบัญชาที่สั่งพักราชการ
ปฏิบัติ ดังนี้
7.3.1 ถ้าสั่งให้ออกจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ ให้สั่งให้ออกตั้งแต่วันสั่งพักราชการ
7.3.2 ถ้าสั่งให้ออกจากราชการโดยมีเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ ให้สั่งให้ออกตั้งแต่วันออกคำสั่ง ฯลฯ
[8] มาตรา 7 ทหารผู้ใดกระทำผิดต่อวินัยทหารจักต้องรับทัณฑ์ตามวิธีที่ปรากฏในหมวด 3
แห่งพระราชบัญญัตินี้ และอาจต้องถูกปลดจากประจำการ หรือถูกถอดจากยศทหาร
[9] ข้อ 2 ผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ ได้แก่ ผู้ที่มีความผิดหรือต้อง
รับโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
2.1 ทุจริตต่อหน้าที่ราชการ โดยถือตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก
เว้นแต่ศาลจะรอการกำหนดโทษ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้
2.2 กระทำความผิดนอกจากข้อ 2.1 ต้องรับโทษจำคุกหรือโทษที่หนักกว่าจำคุก โดยคำพิพากษา
ถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ศาลจะรอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ หรือต้อง
รับโทษจำคุกไม่เกินความผิดลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
2.3 ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นคนล้มละลาย เพราะทำหนี้สินขึ้นด้วยความทุจริต
2.4 ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย และการขัดคำสั่งนั้นเป็นเหตุให้เสียหาย
แก่ราชการอย่างร้ายแรง
2.5 เปิดเผยความลับของราชการเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
2.6 ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง
2.7 ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป
2.8 หนีราชการทหารในเวลาประจำการ
2.9 ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
[10] ข้อ 4 การถอดยศทหารและบรรดาศักดิ์ ตามความในข้อ 2.1 ข้อ 2.2 หรือข้อ 2.3
ให้ถอดตั้งแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด
[11] โปรดดูเชิงอรรถที่ 9, ข้างต้น.