คคห. #58 #58 ของคุณรถเก๋งสตาร์เกท
ผมคิดว่าข้อสรุปตรงท้าย ที่คุณคิดเองเขียนเองนั้น เป็นความคิดที่ไม่ได้อ้างอิงกับข้อเท็จจริงหรืออ้างอิงกับเอกสารใดๆที่ปรากฏเลย
คุณจับแพะชนแกะแบบนี้ ผมมั่นใจว่ากระทู้คงถกกันยาวไปอีกไม่รู้กี่หน้าโดยจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะข้อมูลที่คุณเขียนเองมันคลุมเคลือเหลือเกิน
อีกเรื่องนึงคือ คุณโคทข้อความผม แต่ก็ดันมองข้ามคำถามผม ว่าทำไม mou 43 ไม่อ้างถึง L7017หรือL7018
แต่ดันไปอ้างข้อความ ข้อ (ก) (ข) (ค) ในเอกสาร mou ที่ทั้งหมดนั้นไทยเราเสียเปรียบไปแล้วโดยศาลโลกตัดสินทั้งสิ้น
กลับมาประเด็นดีกว่า คุณว่า mou43 ไม่ได้อ้างแผนที่ ระวาง ระวาง 1:200,000 โดยสิ้นเชิง จริงๆเหรอ?? ถกไปถกมาคุณอาจได้เงิน 1 ล้านก็ได้นะ
โดยที่ #58 คุณบอกว่า "ระวางดงรักใช้กับศาล"
ผมก็ว่าใช่ เพราะปี 2505 ศาลก็เคยตัดสินให้ไทยแพ้ เพราะไทยไม่เคยทักท้วงระวางดังกล่าว
และจากข้อมูลต่างๆ ผมว่ามันแสดงว่า ระวางอันนั้น อยู่ใน ข้อ (ค) ไม่ใช่เหรอ.... จะ เอาไงแน่ครับ
อันนี้ใน mou
(ค)
แผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลงานการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีนซึ่งจัดตั้งขึ้น
ตามอนุสัญญาฉบับปี ค.ศ. ๑๙๐๔ และสนธิสัญญา ฉบับปี ค.ศ. ๑๙๐๗ ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส
มันก็อันเดียวกับอันนี้ไง
เขตแดนไทย - กัมพูชา กำหนดโดยหลักฐานต่าง ๆ ของแต่ละพื้นที่ดังนี้
๑. อนุสัญญาลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๐๔ (พ.ศ.๒๔๔๗) กำหนดให้เขตแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ด้านกัมพูชา
กำหนดให้พระตะบอง และเสียมราฐ ตกอยู่ในอาณาเขตสยาม
๒. สัญญา ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ.๑๙๐๗
สัญญาฉบับนี้ไทยยอมยกพระตะบอง เสียมราฐให้แก่ฝรั่งเศส และกำหนดเขตแดนไว้ในสัญญาติดท้ายด้วย (เป็นฉบับเดียวกับลาว)
๓. แผนที่คณะข้าหลวงปักปันเขตแดนฯ ค.ศ.๑๙๐๔ ถึง ค.ศ.๑๙๐๖(Commission De Delimitation Entre L´ Indo-chine ET Le Siam)
มาตราส่วน ๑/๒๐๐,๐๐๐ จำนวน ๒ ระวาง แสดงเส้นเขตแดนในบริเวณ จ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี
๔. แผนที่คณะข้าหลวงปักปันเขตแดนฯ ค.ศ.๑๙๐๗ ถึง ๑๙๐๘
(Commission De Délimitation De La Frontière Entre L´ Indo-chine ET Le Siam) มาตราส่วน ๑/๒๐๐,๐๐๐ จำนวน ๕ ระวาง แสดงเส้นเขตแดนตั้งแต่ จ.ตราด
ขึ้นไปทางเหนือไปจนจรด จ.ศรีสะเกษ
๕. คำพิพากษาศาลโลก วันที่ ๑๕ มิถุนายน ค.ศ.๑๙๖๒ (พ.ศ.๒๕๐๕) ตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในดินแดนกัมพูชา
ประการแรกคุณเอาความคิดของคุณออกไปก่อน เรื่องรถเก๋ง ถ้ายังหยามเหยียดกันแบบนี้อีกก็ไม่มีประโยนช์ที่จะยกเหตุผลอื่นมาพูดอีก มันเป็นสิ่งที่คุณยกขึ้นมาดูถูกคนอื่นเพื่อลดความเชื่อถือหรือข่มคนอื่นให้ดูด้อยลง หากยังเรียกแบบนี้อีก ขอให้มอดพิจารณาแบนคุณด้วย เพราะเป็นการยั่วยุและผิดกฏดังต่อไปนี้
5. ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ พาดพิงสมาชิกเว็บบอร์ดคนอื่นๆ ในทางเสียหาย
7.ห้ามตั้งกระทู้หรือแสดงความเห็นที่มีลักษณยั่วยุให้เพื่อนสมาชิกโกรธเคือง หรือสร้างความร้าวฉาน แตกความสามัคคีในหมู่สมาชิก *
13.6 การกระทำที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของสมาชิกด้วยวิธีการใดๆ
ของผมสรุปว่าคณะสำรวจและปักปันเขตแดนใช้สันปันน้ำเป็นขอบสันเขาในตอนสำรวจ ก็แสดงว่าปราสาทเขาพระวิหารก็เป็นของไทย
ถ้ากัมพูชาบอกว่าไม่ใช่ ก็เอาหลักเขตมาพิสูจน์ซิว่าอยู่ตรงไหน เพราะตอนสำรวจและปักปันเขตแดนในปี 1907 ฝรั่งเศสพูดว่า
“เส้นเขตแดนเดินไปตามเส้นสันปันน้ำ ซึ่งอยู่ที่หน้าผาเห็นได้จากตีนภูเขาดงรัก”
ประการต่อมา ความคิดของผมที่ให้ไว้กับคุณ 5M #60 ก็มาจากคำพูดของผู้สำรวจและปักปันเขตแดนในปี 1907ที่ไม่สอดคล้องกับแผนที่ที่ทำขึ้นมาในภายหลัง อันเป็นเหตุให้ฝ่ายไทยไม่ยอมรับระวางดังกล่าวฉบับเดียวที่นำไปอ้างอิงในศาล คุณดูระวางให้ดีว่ามีระวางอะไรบ้างที่ใช้ใน MOU 43
การไม่อ้างถึงแผนที่ L7017หรือL7018 นั้น ใน MOU 43 จะอ้างจากข้ออนุสัญญาและสนธิสัญญาใดที่เราทำไว้ในอดีตกับกัมพูชามิทราบ
หากต้องมาเจราจากันใน JBC และ JTSC ที่คุรไม่เข้าไปอ่นทั้งหมด
จึงต้องเอามาลงให้หมดดังนี้
4.2 บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย - กัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ปี 2543 (MOU 2543)
ปัจจุบัน กัมพูชายังคงอ้างเส้นเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 บริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งล้ำดินแดนไทยเข้ามาประมาณ 3,000 ไร่ หรือ 4.6 ตารางกิโลเมตร
ปัญหาเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหารเป็นหนึ่งในปัญหาเขตแดนไทย - กัมพูชา ที่มีอยู่ตลอดแนว ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้ใช้ความอดกลั้นอย่างสูงสุดต่อการละเมิดดินแดนไทยที่มีขึ้น เนื่องจากคำนึงถึงมิตรภาพ ความใกล้ชิดทางวัฒนธรรม แต่กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานในท้องถิ่นได้ประท้วงการละเมิดดังกล่าวทุกครั้ง เพื่อรักษาสิทธิตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศของไทยไว้ระหว่างที่รอการแก้ไขปัญหาเขตแดนโดยกลไกการเจรจาที่มีอยู่
MOU (เอ็มโอยู) คืออะไร
MOU (Memorandum of Understanding - MOU) เป็นบันทึกความเข้าใจ ซึ่งเป็น “agreement to negotiate” (การตกลงว่าจะเจรจากัน) มิใช่ “agreement to agree” (การตกลงว่าจะตกลงกัน) โดยอาจกำหนดพื้นฐานทางกฎหมายที่ผู้ทำบันทึกทั้งสองฝ่ายเข้าใจร่วมกันในการดำเนินความสัมพันธ์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ก่อนเข้าแข่งขันกีฬาจะต้องมีการตกลงกันเสียก่อนว่า กติกาของการแข่งขันคืออะไร ซึ่งเมื่อตกลงกติกากันได้แล้วจะมีการแข่งขันกันจริงหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งกติกาพื้นฐานนี้จะกำหนดขึ้นเพื่อใช้ระหว่างการแข่งขัน หรือสำหรับก่อนและ/หรือหลังการแข่งขันด้วยก็ได้ เช่น กติกาในการเลือกวัน เวลา และสนามแข่ง วิธีการส่ง
ผู้เข้าแข่งขัน อุปกรณ์ที่ใช้แข่งขัน เป็นต้น
สำหรับ MOU ที่เป็นความตกลงระหว่างประเทศนั้น คือ การที่ประเทศสองประเทศตกลงกันในเรื่องความเข้าใจพื้นฐาน หรือกติกาพื้นฐานของการเจรจาหรือการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันให้เข้าใจตรงกัน ก่อนที่จะมีการเข้าเจรจาหรือมีปฏิสัมพันธ์กันจริง ๆ เพื่อให้การเจรจาหรือปฏิสัมพันธ์นั้น ๆ ตั้งอยู่บนพื้นฐานหรือกติกาที่ทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกันแล้ว
กรณี MOU 2543 เป็น บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก (Memorandum of Understanding between the Government of the Kingdom of Thailand and the Kingdom of Cambodia on the Survey and Demarcation of Land Boundary) กำหนดพื้นฐานทางกฎหมายว่า การเจรจาเขตแดนไทย - กัมพูชานั้น จะใช้เอกสารใดในการเจรจา แต่นั่นมิได้หมายความว่า อีกฝ่ายยอมรับว่าเอกสารดังกล่าวผูกพันตนเองแล้ว
แต่อย่างใด
ความเป็นมาของ MOU 2543
ประมาณปี 2537 หลังจากที่ประเทศกัมพูชาสามารถจัดการปัญหาการเมืองภายในและมีการจัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาได้เริ่มเจรจาปัญหาเขตแดนอีกครั้ง เหตุผลหลักที่ประเทศไทยต้องการเจรจาปัญหาเขตแดนกับกัมพูชา คือ
1. หลังจากศาลโลกพิพากษาในปี 2505 ประเด็นปัญหาเรื่องเขตแดนไทย - กัมพูชา ถูกละทิ้งเป็นเวลานานกว่า 30 ปี
2. เหตุการณ์สู้รบระหว่างทหารไทยกับลาว บริเวณบ้านร่มเกล้าชายแดนจังหวัดพิษณุโลก ทำให้รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาเขตแดนและนำไปสู่ความจำเป็นในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน
3. รัฐบาลมีนโยบายไม่ให้เรื่องเขตแดนกลายเป็นประเด็นทางการเมือง แต่เป็นเรื่องของกฎหมายและเรื่องทางเทคนิค
4. รัฐบาลตระหนักถึงความจำเป็นที่จะใช้กฎหมายระหว่างประเทศในการเจรจาเขตแดน
ดังนั้น เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2540 พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและกัมพูชาได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมเพื่อจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมจัดทำหลักเขตแดนสำหรับเขตแดนทางบก (Joint Statement on the Establishment of the Thai - Cambodian Joint Commission on the Demarcation for Land Boundary) ต่อมาในการประชุม คณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งที่ 1 (30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม 2542) ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมฯ ขึ้นและเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมฯ ของทั้งสองฝ่าย คือ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ุ บริพัตร รัฐมนตรี
ช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายวาร์ กิม ฮง ที่ปรึกษารัฐบาลผู้รับผิดชอบกิจการชายแดน ได้ลงนามใน MOU 2543 โดย MOU 2543 ข้อ 1 กำหนดว่า
“[ไทยและกัมพูชา] จะร่วมกันดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชาให้เป็นไปตามเอกสารต่อไปนี้
(ก) อนุสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศสแก้ไขเพิ่มเติมข้อบทแห่งสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 112 (ค.ศ.1893) ว่าด้วยดินแดนกับข้อตกลงอื่น ๆ ฉบับลงนาม ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก 122 (ค.ศ. 1904)
(ข) สนธิสัญญาระหว่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามกับประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ฉบับลงนาม ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 125 (ค.ศ. 1907) กับพิธีสารว่าด้วยการปักปันเขตแดน แนบท้ายสนธิสัญญา ฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 125 (ค.ศ. 1907) และ
(ค) แผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลงานการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีนซึ่งจัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญา ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญา ค.ศ. 1907 กับเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้อนุสัญญา ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญา ค.ศ. 1907 ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส”
ทั้งนี้ MOU 2543 ไม่ใช่การกำหนดเขตแดนแต่เป็น MOU ที่ 2 ฝ่ายตกลงกันเกี่ยวกับขั้นตอนการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน
การที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 เป็นแผนที่ของคณะกรรมการปักปันฯ การอ้างอิงเอกสารดังกล่าว ก็ไม่ได้แสดงว่า ไทย“ยอมรับ” แผนที่หรือเส้นที่ปรากฏในแผนที่เป็นเส้นเขตแดน หากจะถือว่าไทยยอมรับในลักษณะนี้ ก็ต้องถือว่ากัมพูชายอมรับสันปันน้ำตามที่ระบุในอนุสัญญา ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญา ค.ศ. 1907 ในข้อ 1 (ก) และ (ข) ของ MOU 2543 ด้วย ดังนั้น จะต้องมีการเจรจากันต่อไป จนกว่าทั้งสองฝ่ายจะได้ข้อยุติร่วมกัน
4.2.1 ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000
ที่มาของ “แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000”
สนธิสัญญากำหนดเขตแดนไทย - กัมพูชา มี 2 ฉบับ ได้แก่ อนุสัญญาสยาม - ฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญาสยาม - ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 สนธิสัญญาทั้งสองฉบับระบุให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการผสมสยาม - ฝรั่งเศสเพื่อปักปันเขตแดน เพื่อดำเนินการสำรวจภูมิประเทศจริง และได้มีการจัดทำแผนที่แสดงเส้นเขตแดน โดยมีการจัดทำแผนที่ 2 ชุด ได้แก่ แผนที่ชุด Bernard5 (ตามอนุสัญญาฯ ค.ศ. 1904 มี 11 ระวาง) และแผนที่ชุด Montguers (ตามสนธิสัญญา ค.ศ. 1907 มี 5 ระวาง) ซึ่งทั้งหมดเป็นแผนที่จัดทำในมาตราส่วน 1 : 200,000 ดังนั้น เมื่อกล่าวถึง “แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000” จึงหมายรวมถึงแผนที่หลายฉบับ (มิได้หมายถึงแผนที่ระวางดงรักฉบับเดียว) ซึ่งครอบคลุมเขตแดนไทย - ลาว และไทย - กัมพูชา ปัจจุบันทั้งหมด
“แผนที่ระวางดงรัก” ซึ่งเป็นแผนที่ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดและแสดงเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ เป็นเพียง 1 ในแผนที่จำนวน 11 ระวางของแผนที่ชุด Bernard (ปัจจุบันเหลือใช้เพียง 8 ระวาง เนื่องจากเส้นเขตแดน ค.ศ. 1904 ตามแผนที่ชุด Bernard จำนวน 3 ระวาง ถูกยกเลิกโดยเส้นเขตแดนใหม่ตามสนธิสัญญา ค.ศ. 1907)
แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ระวางดงรัก กับคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ปี 2505
ในคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 ศาลฯ ระบุว่า จะไม่ตัดสินว่า เส้นเขตแดนไทย - กัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหารเป็นไปตามแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ระวางดงรัก (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “แผนที่ดงรัก”) หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ศาลฯ จำเป็นต้องทราบว่า เส้นเขตแดนไทย -กัมพูชา อยู่ที่ใดในบริเวณปราสาทพระวิหาร เพื่อใช้เป็นเหตุผลที่จะตัดสินว่า ปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อธิปไตยของประเทศใด6
ลักษณะของคำพิพากษาของศาลฯ แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
(1) ส่วนเหตุผล (reasoning) ซึ่งในหลักการ ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายและ (2) ส่วนบทปฏิบัติการ (operative paragraph) ซึ่งมีผลผูกพันคู่กรณี
ในส่วนเหตุผล ศาลฯ อ้างเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ไทยได้ยอมรับแผนที่ดงรัก ดังต่อไปนี้
(1) ฝ่ายไทยได้ดำเนินการเผยแพร่แผนที่ดงรักอย่างกว้างขวางภายหลังที่ได้รับมาจากฝรั่งเศส และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงขอแผนที่เพิ่มเติมด้วย
(2) ไทยไม่เคยคัดค้านเส้นเขตแดนบนแผนที่ดงรักจนถึง ค.ศ.1958 แม้ว่าจะมีโอกาสหลายครั้ง เช่น การทำงานของคณะกรรมการถอดอักษรสยาม - ฝรั่งเศส ค.ศ. 1909 การสำรวจภูมิประเทศของกรมแผนที่ทหาร ค.ศ. 1934 และต่อมาได้ผลิตแผนที่ที่แสดงเส้นเขตแดนไปตามแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 การเจรจาสนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์ และการเดินเรือ ค.ศ. 1925 และ ค.ศ. 1937 และระหว่างการประชุมหารือของคณะกรรมการประนอมฝรั่งเศส - ไทย ค.ศ. 1947
ในส่วนบทปฏิบัติการ ศาลฯ ระบุว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยกัมพูชา โดยไม่ได้ตัดสินเกี่ยวกับเส้นเขตแดน หรือสถานะของแผนที่ระวางดงรัก
แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 กับแผนที่ L7017/L7018
ประเด็นว่า เมื่อนำแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 มาทาบลงบนแผนที่ L7017/L7018 แล้วจะพบว่า เส้นเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ทำให้ไทยเสียดินแดนเป็นจำนวนมากนั้น มีข้ออธิบาย ดังนี้
1) แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 และแผนที่ L7017/L7018 เป็นแผนที่ที่มีวิธีการจัดทำ (Projection) แตกต่างกัน จึงมีลักษณะแตกต่างกัน
2) L7017/L7018 จัดทำโดยใช้พื้นผิวของรูปทรงกระบอก (Mercator Projection) ซึ่งจะแสดงระยะทางที่ถูกต้อง แต่ขนาดของภูมิประเทศจะคลาดเคลื่อน ในขณะที่แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ซึ่งจัดทำโดยใช้ Sinusoidal Projection (ลักษณะคล้ายหัวหอม) จะแสดงขนาดภูมิประเทศถูกต้อง แต่ระยะทางคลาดเคลื่อน
3) เนื่องด้วยคุณสมบัติที่แตกต่างกันของแผนที่ทั้ง 2 ชุด จึงไม่สามารถนำแผนที่มาทาบกันได้ เพราะขนาดและรูปทรงของภูมิประเทศและเส้นเขตแดนจะแตกต่างกันมาก
4.2.2 การละเมิดข้อตกลงของกัมพูชาและการประท้วงของไทย
MOU 2543 ข้อ 5 กำหนดว่า “เพื่ออำนวยความสะดวกให้การสำรวจตลอดแนวเขตแดนทางบกร่วมกัน เป็นไปอย่างประสิทธิผลหน่วยงานของรัฐบาลกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเหล่านั้น จะงดเว้นการดำเนินการใด ๆ ที่มีผล เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ชายแดน เว้นแต่จะเป็นการดำเนินการของคณะอนุกรรมาธิการ
เทคนิคร่วม เพื่อประโยชน์ในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน”
อย่างไรก็ดี นับแต่มีการจัดทำ MOU 2543 ฝ่ายกัมพูชาได้ละเมิดMOU 2543 ข้อ 5 โดยก่อสร้างรุกล้ำเขตแดนไทยในบางพื้นที่ รวมทั้งก่อสร้างวัด ถนน ตลาด และให้มีประชาชนกัมพูชาอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร นอกจากนี้ ฝ่ายกัมพูชายังได้ดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ในบริเวณพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งถือเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศไทย ฝ่ายไทยจึงได้ดำเนินการประท้วงต่อเรื่องดังกล่าว
ในทางปฏิบัติของไทย การประท้วงจะเริ่มจากหน่วยงานในท้องถิ่น อาทิ หน่วยงานประสานงานชายแดนประจำพื้นที่ และหากหน่วยบังคับบัญชาเห็นว่าควรมีการประท้วงในระดับรัฐบาลก็จะมีหนังสือแจ้งให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการต่อไป ในขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศก็ได้รับแจ้งเรื่องจากหน่วยงานระดับท้องถิ่นเพื่อติดตามสถานการณ์ด้วย
การประท้วงของไทยในระดับรัฐบาล
25 พฤศจิกายน 2547 - ไทยดำเนินการประท้วงชุมชนและการก่อสร้างที่พัก และการบริหารจัดการขยะและน้ำเสีย
8 มีนาคม 2548 - ประท้วงการก่อสร้างและพัฒนาถนนจากบ้านโกมุยขึ้นสู่ปราสาทพระวิหาร
17 พฤษภาคม 2550 - คัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
10 เมษายน 2551 - ประท้วงการขึ้นทะเบียนมรดกโลก การก่อสร้างถนน การก่อสร้างต่าง ๆ ของชุมชนและกรณีกัมพูชาวางกำลังทหารรวมทั้งส่งหน่วยเก็บกู้ระเบิดเข้าดำเนินการในพื้นที่
11 พฤศจิกายน 2551 - ประท้วงกรณีชาวกัมพูชาและเจ้าหน้าที่ยูเนสโกเดินทางผ่านเข้ามาในไทยโดยมิได้ขออนุญาตเพื่อเข้าร่วมพิธีปักธงบริเวณปราสาทพระวิหารและพื้นที่ใกล้เคียง
12 พฤศจิกายน 2551 - ประท้วงการตั้งเสาธงชาติและธงยูเนสโกการก่อสร้างป้ายบริเวณแนวบันไดปราสาทพระวิหาร 13 พฤศจิกายน 2551 - ประท้วงกรณีกัมพูชานำพระสงฆ์ เณร และประชาชนชาวกัมพูชา เข้าร่วมพิธีทอดกฐิน ณ วัดแก้วสิขาคีรีสะวารา
10 มีนาคม 2552 - ประท้วงการก่อสร้างและพัฒนาถนนจากฝั่งกัมพูชาขึ้นสู่ปราสาทพระวิหารถึงบริเวณวัดแก้วสิขาคีรีสะวารา
26 มีนาคม 2552 - ประท้วงการก่อสร้างห้องน้ำและอาคารบริเวณวัดแก้วสิขาคีรีสะวารา
22 กันยายน 2552 - ประท้วงสิ่งปลูกสร้างบริเวณบันไดเชิงปราสาทพระวิหาร
29 ตุลาคม 2552 - ไทยปฏิเสธข้อกล่าวหาของกัมพูชาที่กล่าวว่าทหารไทยเป็นผู้ทำลายตลาดบริเวณปราสาท
9 เมษายน 2553 - ประท้วงการสร้างกุฏิพระที่วัดแก้วสิขาคีรีสะวาราในพื้นที่ใกล้ปราสาทพระวิหาร
4 มีนาคม 2554 - ประท้วงการจัดให้ผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศดูพื้นที่ปราสาทพระวิหารผ่านพื้นที่ที่ไทยอ้างสิทธิ
31 มีนาคม 2554 - ไทยเรียกร้องให้กัมพูชารื้อถอนวัดและปลดธงจากวัดแก้วสิขาคีรีสะวารา
*** การประท้วงของไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศ ถือว่ามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในการรักษาสิทธิและอธิปไตยของประเทศ โดยถึงแม้กัมพูชาจะมีการสร้างถนน ตลาด วัด และชุมชนในพื้นที่ก็ตาม ประเทศไทยเลือกใช้แนวทางการเจรจาซึ่งเป็นการยุติข้อพิพาทโดยสันติวิธีอันเป็นหลักที่ยอมรับในอารยประเทศ ***
4.3 แผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ของการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ปี 2546 (TOR 2546)
Terms of Reference - TOR คือ แผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ที่จัดทำขึ้นตาม MOU 2543 ข้อ 2 และ 3 สำหรับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมฯ (JBC) โดยเฉพาะในกระบวนการทางเทคนิคที่มีความซับซ้อนสูง มี 5 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1 การค้นหาตำแหน่งที่ตั้งของหลักเขตแดนทั้ง 73 หลัก ที่ได้จัดทำไว้ในอดีต โดยเมื่อสามารถตกลงเห็นชอบกับ ตำแหน่งที่ตั้งของหลักเขตแดนแต่ละหลักได้แล้วก็จะซ่อมแซม (ในกรณีที่ชำรุดหรือถูกเคลื่อนย้าย) หรือสร้างขึ้นใหม่ (ในกรณีที่สูญหายหรือถูกทำลาย)
ขั้นตอนที่ 2 การจัดทำแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศ(Orthophoto Map) คือ การจัดทำแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศแสดงลักษณะภูมิประเทศตามแนวเขตแดนทางบกตลอดแนว และได้ตกลงกันว่าจะจ้างประเทศที่สามเป็นผู้ดำเนินการ
ขั้นตอนที่ 3 การกำหนดแนวที่จะเดินสำรวจลงบนแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศ โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันกำหนดแนวที่จะเดินสำรวจตามหลักฐานทางกฎหมายลงบนแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อใช้เป็นแนวทางให้การเดินสำรวจหาแนวเขตแดนในภูมิประเทศจริงเป็นไปโดยสะดวกและมีความถูกต้อง หากทั้งสองฝ่ายมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับแนวที่จะเดินสำรวจ ก็ให้จัดทำแนวของทั้งสองฝ่ายลงบนแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศ
ขั้นตอนที่ 4 การเดินสำรวจหาแนวเขตในภูมิประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันเดินสำรวจสภาพภูมิประเทศจริงตามแนวที่จะเดินสำรวจ ตามขั้นตอนที่ 3 เพื่อกำหนดแนวเขตแดนในภูมิประเทศที่มีทั้งสันปันน้ำแนวเส้นตรง และลำคลอง พร้อมทั้งกำหนดจุดที่จะก่อสร้างหลักเขตแดนไปด้วย (ทุกระยะไม่เกิน 5 กิโลเมตร)
ขั้นตอนที่ 5 การก่อสร้างหลักเขตแดน ซึ่งจะก่อสร้างในภูมิประเทศสำคัญ ทั้งนี้ ได้ตกลงกันด้วยว่าขั้นตอนเหล่านี้เป็นเพียงการวางแผนแม่บทในการปฏิบัติงานไว้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการไปทีละขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศนั้น สามารถดำเนินการควบคู่กันไปกับการค้นหาที่ตั้งหลักเขตแดนได้
Edited by Stargate-1, 15 มกราคม พ.ศ. 2556 - 09:21.