รัฐสภาถกคดีเขาพระวิหาร "ทูตวีรชัย" แปลคำพิพากษา รับไทยเสียดินแดนยอดเขาพระวิหารไปทางทิศเหนือ เกินเส้นมติ ครม. ปี 2505 และบริเวณทางขึ้นเขาฯฝั่งกัมพูชา แต่ไม่กินพื้นที่ยาวถึงภูมะเขือ
วันนี้ (13 พ.ย.) ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 โดยมีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ในช่วงแรก มีเพียง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ และนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ทำหน้าที่ชี้แจง ก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จะเข้าร่วมประชุม
นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานทางกฎหมายฝ่ายไทย คดีปราสาทพระวิหาร สรุปสาระสำคัญของคำพิพากษาศาลโลกต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาว่า คำพิพากษาในส่วนที่เป็นเหตุผล มีสาระสำคัญคือ ศาลตีความคำพิพากษา ปี 2505 มีองค์ประกอบหลัก3 ประการ คือศาลไม่ได้ชี้ขาดเรื่องเขตแดน ซึ่งศาลรับฟังข้อต่อสู้ของเรา ขณะที่ แผนที่ 1ต่อ 2 แสน ศาลฟังกัมพูชาแต่จำกัดในบริเวณพิพาทในคดีเดิมเท่านั้น แม้เส้นเขตแดนบนแผนที่ดังกล่าวจะยาวกว่า100 กม. และศาลได้ตีความว่าปราสาทอยู่บนดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และระบุดินแดนที่ไทยต้องถอนกำลังออก ดูในหลักศาลจากคดีเดิมว่ากองกำลังของไทยตั้งอยู่ที่ใด โดยคำให้การในปี 2504 ก่อนมีคำพิพากษา วันนี้ศาลจึงเห็นว่า อย่างน้อยบริเวณใกล้เคียงปราสาทจะต้องรวมที่ตั้งของตำรวจตระเวรชายแดนไทย ที่ตั้งอยู่ทิศเหนือของเส้นมติครม.ปี 2505 ที่กำหนดในภายหลังคดี แต่อยู่ใต้เส้นเขตแดนบนแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน และอยู่เหนือเส้นสันปันน้ำ ดังนั้น ศาลในวันนี้ จึงเห็นว่า เส้นเขตแดนตามมติครม.ไม่อาจเป็นขอบเขตใกล้เคียงปราสาทเขาพระวิหารได้
ศาลโลกเห็นว่า ไทย-กัมพูชามีความเห็นที่แตกต่างต่อคำตัดสินศาลโลก ปี 2505 ซึ่งคำว่า "Promontory" เป็นภาษาฝรั่งเศส ทางฝ่ายไทยได้นิยามความหมายว่า ยอดเขา แต่ภายหลังที่ศาลโลกมีคำตัดสินเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา สื่อมวลชนไทยใช้คำว่า "ชะง่อนผา" โดยตนจะรับไปพิจารณา
ทั้งนี้ "Promontory" ได้กลายเป็นข้อถกเถียงกันว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีขนาดเท่าไร แม้ว่า ศาลโลกจะเห็นว่า บริเวณใกล้เคียงปราสาทหรือพื้นที่ในคดีเดิม มีขนาดเล็กที่เห็นได้โดยชัดเจนตามลักษณะภูมิศาสตร์อย่างที่กัมพูชาได้กล่าวเป็นข้อสนับสนุนในการยื่นขอตีความ แต่ในคำตัดสินของศาลโลกครั้งนี้ เห็นว่า ภูมะเขือที่เป็นพื้นที่ใน 4.6 ตร.กม. ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงอาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร และศาลก็ไม่ได้รับตีความพื้นที่ประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร เนื่องจากไม่ใช่พื้นที่พิพาทในคดีเดิม
นอกจากนี้ ศาลยังตีความว่าอธิบายพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร โดยใช้ลักษณะของภูมิศาสตร์ เป็นหลัก จากนั้นก็ตีความว่าพื้นที่ในคดีเดิมคือแคบและจำกัดอย่างชัดเจน ส่วนทางเหนือจำกัดโดยดินแดนของกัมพูชา บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร ศาลตีความจำกัดว่ายอดเขาพระวิหาร ด้วยเหตุผล ว่าไม่รวมภูมะเขือ เพราะเป็นพื้นที่ภูมิศาสตร์แยกจากกัน ผู้ว่าฯราชการจังหวัดเขาพระวิหาร ในสมัยนั้นก็ให้การว่าพื้นที่ภูมะเขืออยู่คนละจังหวัดกับยอดเขาพระวิหาร ขณะที่ทนายความของกัมพูชาก็บอกว่า ภูมะเขือไม่ใช้พื้นที่สำคัญในการพิจารณา และไม่มีหลักฐานว่ากองกำลังของไทยอยู่ที่ภูมะเขืออีกด้วย จึงสรุปได้ว่าพื้นที่ใกล้เคียงจำกัดเพียงยอดเขาพระวิหาร และจะต้องเล็ก แคบ จำกัด และเห็นได้ชัด
นายวีรชัย กล่าวต่อว่า ในคำตัดสินศาลโลกครั้งนี้ ศาลรับทราบข้อต่อสู้ของไทยเพื่อถ่ายทอดแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ตร.กม.ลงไปในพื้นที่จริง และศาลในคดีเดิมก็ไม่ได้พิจารณาจึงอยู่นอกอำนาจของศาลปัจจุบัน การถ่ายทอดเส้นของแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ตร.กม. ไม่สามารถดำเนินการฝ่ายเดียวได้
นอกจากนี้ ศาลยังตัดสินว่าไทยและกัมพูชาต้องร่วมมือกันและประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อปกป้องปราสาทเขาพระวิหารในฐานะมรดกโลก และจำเป็นต้องมีทางเข้าปราสาทจากที่ราบในฝั่งกัมพูชา นอกจากนี้ ศาลยังไม่วินิจฉัยของประเด็น เส้นเขตแดนมีผลผูกพันหรือไม่ และพันธกรณีการถอนกำลังทหารต่อเนื่องหรือไม่ เพราะศาลเดิมไม่ได้ตัดสินเอาไว้
http://www.tnews.co....ึงภูมะเขือ.html
นี่ก็เมื่อเช้าเห็นแว๊บๆ... รัฐฯบอกเราได้มากกว่าเสีย...