6 มีนาคม 2014
วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
สมาชิกโลกและสมาชิกสังคมของเราต่างไขว่คว้าหาความรู้กันอยู่ตลอดเวลา เพื่อหวังว่าจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องเหมาะสม อย่างไรก็ดียังมีสิ่งที่มีความสำคัญเช่นเดียวกันนั่นก็คือความไม่รู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เรามองมักข้ามอยู่เสมอซึ่งได้แก่ “ความไม่รู้ว่าเราไม่รู้”
ความรู้มาจากการแปรเปลี่ยนข้อมูล (data) เป็นสารสนเทศ (information) และเป็นความรู้อีกที่หนึ่ง ตัวอย่างเช่นรู้สึกเหนื่อยง่าย บางครั้งก็ปวดตรงหัวใจและหัวใจเต้นแรงและเร็วนี่คือข้อมูล หากเอาข้อมูลเหล่านี้มาประติดประต่อวิเคราะห์เป็นแบบแผนจะด้วยตนเองหรือ แพทย์ก็ตามก็จะได้สารสนเทศ (information) และเมื่อมาสังเคราะห์ลึกซึ้งขึ้นด้วยเครื่องมือก็จะได้ความรู้ว่าเป็นโรค หัวใจ หากรู้จักใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ก็คือปัญญา (wisdom) กล่าวคือไม่ประมาท ดูแลตัวเองให้ดีขึ้น ฯลฯ
ในสังคมของเราที่มีปัญหาอยู่มากมายไม่น้อยหน้าสังคมอื่น ๆ นั้น เรามีเรื่องที่ไม่รู้หรือรู้ไม่จริงอยู่มากมายจนละเลยบางเรื่องที่สำคัญไป หรือตัดสินใจผิด ๆ เพราะมีความรู้ที่กระพร่องกระแพร่ง มีอยู่หลายตัวอย่างที่เราไม่รู้อย่างน่ากลัว
ในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศของเรากำลังขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร การประมง ตลอดจนการบริโภค สัญญาณที่เห็นในปัจจุบันก็คือระดับน้ำที่ลดลงในคูคลอง แม่น้ำ ความแห้งแล้งของแหล่งน้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ และความเค็มของน้ำที่มีดีกรีสูงขึ้นอย่างผิดสังเกต อันเป็นผลมาจากการลดลงของปริมาณน้ำจืด และแรงดันของน้ำเค็ม
หน่วยงานน้ำสำคัญเช่น สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน)ของ ดร.รอยล จิตรดอน มีข้อมูลเกี่ยวกับน้ำอย่างเกือบสมบูรณ์แบบ จนสามารถช่วยในการตัดสินใจป้องกันและแก้ไขในวันนี้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ผู้บริหารเรื่องน้ำและสมาชิกสังคมของเราส่วนใหญ่ไม่ตระหนักเรื่องนี้ อย่างจริงจังจนเรียกได้ว่าอยู่ใน “ความไม่รู้ว่าเราไม่รู้” ว่าความหายนะกำลังคืบคลานมา
เราคุ้นเคยกับน้ำท่วมใน 3 ปีที่ผ่านมาจนถูกครอบงำด้วยความรู้สึกว่าบ้านเราอุดมไปด้วยน้ำ เรามีความ ‘ความไม่รู้ว่าเราไม่รู้’ จนไม่คิดว่าความแล้งและความขาดแคลนน้ำกำลังคืบเข้ามาอย่างน่ากลัว
‘ความไม่รู้ว่าไม่รู้’ เปรียบเสมือนมนต์ดำบังตา มนุษย์ นักเศรษฐศาสตร์เคยเชื่อว่าวิกฤติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในโลกทุนนิยมดังที่เกิด ขึ้นในปี 2008 เป็นสิ่งที่ไม่มีทางเกิดขึ้นเพราะตลาดทุนที่ทำงานเสรีนั้นย่อมให้ข้อมูล เกือบสมบูรณ์แก่ผู้เกี่ยวข้อง ตราสารหนี้ประหลาด ๆ ที่มีผลตอบแทนจากอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันนั้นปลอดภัย โดยหารู้ไม่ว่ามันสามารถดึงเศรษฐกิจโลกให้พังลงได้ดังที่เกิดขึ้น ‘ความไม่รู้ว่าไม่รู้’ นี่แหละทำให้ผู้คนต้องซับน้ำตากันมามากมายแล้วในหลายประเทศ
อีกตัวอย่างหนึ่งของสังคมเราที่เรานึกว่าเรารู้ดีแล้ว จนเกิด ‘ความไม่รู้ว่าเราไม่รู้’ เกิดขึ้นนั่นก็คือเรื่องของการเคลื่อนย้ายผู้คนเข้ามาในบ้านของเรา เรามีความรู้จากข้อมูลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อสองปีก่อนว่ามีแรง งานต่างชาติทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายอยู่ในบ้านเราประมาณ 5 ล้านคนในทุกภาคการผลิต และดูเหมือนว่าจะสามารถ “ดูแล” ได้ด้วยกฎหมายและการบังคับใช้ที่เป็นอยู่
หากมีผู้รับผิดชอบระดับชาติใส่ใจและนึกถึงประโยชน์ของคนในชาติอย่างแท้จริง ขยันเดินทางไปในหลายจังหวัดหรือแม้แต่กรุงเทพมหานครโดยพยายามมองหาข้อมูลใน เรื่องนี้ ก็จะตกใจ เพราะไม่เคยรู้ว่าตัวเองไม่รู้มาก่อนว่าแรงงานต่างชาติที่ว่านี้มีอยู่เป็น จำนวนมหาศาลในทุกแห่งหน
การมีแรงงานต่างชาติช่วยเศรษฐกิจบ้านเราอย่างมาก เพราะการขาดแคลนแรงงานในหลายภาคมีความรุนแรง แต่ก็แฝงไว้ด้วยปัญหาสังคมมากมาย ภาครัฐจะมีภาระการเงินหนักในการดูแลคนเหล่านี้ในเรื่องสาธารณสุข การศึกษา และความเป็นอยู่ของครอบครัวในอนาคต
สังคมของเราที่อ่อนแอในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างยิ่งจะทำให้เกิด อาชญากรรม สารพัดประเภทจากคนต่างชาติ การเกิดขึ้นของเจ้าพ่อเจ้าแม่ที่ประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย มีนอมินีในธุรกิจต่าง ๆ ตลอดจนแอบแฝงเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติของสังคมเราไปทั่ว ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ยัง “ไม่รู้ว่าเราไม่รู้”
โครงการจำนำข้าวก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งของ ‘การไม่รู้ว่าไม่รู้’ ไวรัส ประชานิยมระบาดหนักจนคิดว่าจะทำอะไรก็ทำได้ด้วยเงินเพราะมั่นใจว่าได้คะแนน ทุกครั้ง แต่หารู้ไม่ว่าไทยไม่สามารถมีอิทธิพลต่อราคาข้าวตลาดโลกและส่งออกได้ดังฝัน เหนือสิ่งอื่นใดมันมีการโกงกันทุกขั้นตอนมโหฬารอย่างนึกไม่ถึง แถมมีข้าวจากพม่า ลาว และเขมร เข้ามาขายในปริมาณที่คาดไม่ถึงจนต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลจนขาดสภาพคล่อง
ที่ชัดที่สุดของ ‘การไม่รู้ว่าไม่รู้’ ก็คือเรื่องร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยตลอดจนพฤติกรรมใช้อำนาจบาตรใหญ่ในสภา จนไปสะกิดต่อม ‘ทนไม่ไหว’ ของคนไทยจำนวนมาก และก็เกิดสิ่งที่ตามมาอย่างไม่มีใครสามารถคาดได้
‘ความไม่รู้ว่าไม่รู้’ ครั้งสำคัญอาจอาละวาดผู้คนในสังคมนี้อีกเมื่อใดก็ไม่อาจคาดเดาได้ ดีที่สุดก็คืออย่าไปประมาทมันเป็นดีที่สุด
หมายเหตุ: คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557
http://thaipublica.o...4/03/ignorance/