การปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าในประเทศฝรั่งเศส
1. ความเป็นมา
ในปี ค.ศ. 1946 ประเทศฝรั่งเศสได้ออกกฎหมายกำกับกิจการไฟฟ้า ซึ่งให้อำนาจบริษัท Electricité de France (EdF) ในการผูกขาดการผลิต ส่ง จำหน่าย และค้าปลีกไฟฟ้าในประเทศฝรั่งเศส ต่อมามีผู้ผลิตไฟฟ้าบางรายที่ได้รับข้อยกเว้น ให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ เช่น บริษัท SNET และบริษัท SHEM ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทถ่านหินของรัฐ และการรถไฟของฝรั่งเศสตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีบริษัทจำหน่ายไฟฟ้า ระดับเทศบาลอีก 176 บริษัท ที่ได้รับการยกเว้นจากกฎหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาบริษัท EdF เป็นเจ้าของกิจการไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศฝรั่งเศส ทำให้บริษัทดังกล่าวมีขนาดใหญ่ และมีความสำคัญอย่างมาก
ต่อมา เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1996 สภาสหพันธ์ยุโรป (European Council) ได้ออกคำสั่งเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า ซึ่งกำหนดให้มีการเพิ่มการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า และเปิดตลาดให้ลูกค้าบางราย สามารถเลือกซื้อไฟฟ้าได้ สืบเนื่องจากคำสั่งดังกล่าวประเทศฝรั่งเศส จึงเริ่มดำเนินการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า โดยมีการปรับโครงสร้างองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และออกกฎหมายพลังงาน ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2000 อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า ในประเทศฝรั่งเศส ได้ประสบกับปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะในการแยกธุรกิจต่างๆ ในกิจการไฟฟ้า เพื่อความชัดเจนและโปร่งใส ดังนั้น การปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าในประเทศฝรั่งเศส จึงถือเป็นบทเรียนที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทย ที่ควรนำมาศึกษาวิเคราะห์ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณา รูปแบบโครงสร้างกิจการไฟฟ้า ที่มีความเหมาะสม และให้ประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าต่อไป
3. แนวทางการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าในประเทศฝรั่งเศส
ประเทศฝรั่งเศสและลักเซมเบอร์ก ดำเนินการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า เป็นสองประเทศสุดท้ายในสหพันธ์ยุโรป โดยรัฐบาลฝรั่งเศส ได้ออกกฎหมายการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า (Law of Modernisation) เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2000
กฎหมายดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหม่ สามารถเข้ามาแข่งขันกับผู้ผลิตไฟฟ้าเดิมได้ โดยมีการเปิดให้บุคคลที่สาม ใช้บริการผ่านสายส่ง สายจำหน่าย (Third Party Access : TPA) ภายใต้ระบบ TPA ผู้ผลิตสามารถขายไฟฟ้าให้กับผู้ซื้อได้ โดยใช้ระบบส่งและระบบจำหน่ายที่มีอยู่เดิม และเพื่อให้การแข่งขันในกิจการไฟฟ้าสามารถเกิดขึ้น รัฐบาลฝรั่งเศสได้ดำเนินการแยกกิจการระบบส่ง และศูนย์ควบคุมระบบออก จาก บริษัท EdF โดยจัดให้ธุรกิจดังกล่าว อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัท Réseau de Transport d’electricité (RTE) ซึ่งแม้ว่าบริษัท RTE จะยังมีสถานะเป็นบริษัทลูกของบริษัท EdF แต่บริษัท RTE ก็มีอิสระในการบริหาร และมีการแยกระบบบัญชีการเงินจากบริษัท EdF อย่างชัดเจน การแยกธุรกิจการผลิตกับการส่งไฟฟ้าในลักษณะดังกล่าว ยังไม่สมบูรณ์ และจำเป็นต้องได้รับการกำกับดูแล อย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการปฏิบัติ ที่ไม่เป็นธรรมกับผู้เข้าร่วมแข่งขัน ดังนั้น รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการ Commission de Regulation de L’ Electricité (CRE) ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลอิสระสาขาไฟฟ้าขึ้น องค์กรดังกล่าวมีหน้าที่หลัก ในการกำหนดราคาค่าผ่านสายส่งสายจำหน่าย และกำกับดูแลให้ผู้ผลิตรายใหม่ สามารถเข้ามาใช้ระบบส่ง ระบบจำหน่ายได้อย่างเป็นธรรม ซึ่งหากผู้ผลิตรายใด ไม่ได้รับความเป็นธรรม ในการขอใช้ระบบหรือค่าผ่านสายที่ผู้ปฏิบัติการเสนอให้ ก็สามารถเรียกร้อง ต่อคณะกรรมการ CRE ได้
ในช่วงแรกรัฐบาลฝรั่งเศสเปิดโอกาส ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีการใช้ไฟฟ้า มากกว่า 16 ล้านหน่วย (GWh) ต่อปี สามารถเลือกซื้อไฟฟ้าได้ โดยผู้ใช้ไฟฟ้าที่ประสงค์ จะเลือกซื้อไฟฟ้า จากผู้อื่นนอกจากบริษัท EdF จะต้องแจ้งความประสงค์ ต่อกระทรวงพลังงานก่อนวันที่ 15 มกราคมของทุกปี ซึ่งจากการสำรวจในไตรมาสแรกของปี ค.ศ. 2001 พบว่า มีผู้ใช้ไฟฟ้าที่สามารถเลือกซื้อไฟฟ้าได้ประมาณ 1,300 ราย
7. ปัญหาและแนวทางการพัฒนา การปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า ในประเทศฝรั่งเศส
แม้ว่าประเทศฝรั่งเศส จะดำเนินการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าบางส่วน เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งของสหพันธ์ยุโรป แต่การปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าที่ผ่านมา ยังประสบกับปัญหาหลายประการ ที่ต้องการการปรับปรุงแก้ไขต่อไป หากต้องการให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับประโยชน์สูงสุด ประเด็นปัญหาต่างๆ และแนวทางการแก้ไขสามารถสรุปได้ดังนี้
7.1 การแยกระบบส่งและศูนย์ควบคุมระบบ ออกเป็นบริษัทลูกของบริษัท EdF ยังขาดความโปร่งใส และยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจ ให้กับนักลงทุนใหม่ได้อย่างเต็มที่ หากต้องการให้การปฏิบัติการระบบส่ง มีความเป็นกลางมากขึ้น ควรแยกบริษัท RTE ในทางกฎหมายจากบริษัท EdF ต่อไป
7.2 บริษัท EdF ยังคงครอบครองกำลังการผลิตส่วนใหญ่ ในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งอาจเป็นการกีดกันผู้ผลิตรายใหม่ที่ต้องการเข้ามาแข่งขัน ดังนั้นควรแยกกำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัท EdF เป็นหลายบริษัท เพื่อลดอำนาจของบริษัทดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้อาจจะไม่เป็นปัญหามากนัก เนื่องจากระบบส่งไฟฟ้าในทวีปยุโรป เป็นระบบที่พัฒนาแล้ว และมีการเชื่อมโยงกันอย่างกว้างขวาง ทำให้ผู้ผลิตในประเทศอื่น เช่น บริษัท E.ON ในประเทศเยอรมัน สามารถแข่งขันในการขายไฟฟ้า ข้ามประเทศได้ ซึ่งหากพิจารณากำลังการผลิตของบริษัท EdF เมื่อเทียบกับกำลังการผลิต ในสหพันธ์ยุโรปโดยรวมแล้วจะเห็นว่า บริษัท EdF ไม่ได้มีสัดส่วนตลาดสูงเกินไป
7.3 การเปิดตลาดเพียงบางส่วนอาจทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้ารายเล็ก ไม่ได้รับประโยชน์ จากการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าเท่าที่ควร ดังนั้น ในอนาคตควรพิจารณาเพิ่มสัดส่วนลูกค้า ที่สามารถเลือกซื้อไฟฟ้าได้ นอกจากนี้ ควรพิจารณาอนุญาตให้บริษัทจัดหาไฟฟ้าสามารถเลือกซื้อไฟฟ้า จากผู้ผลิตรายต่างๆ เพื่อนำมาขายต่อให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ที่ไม่สามารถเลือกซื้อไฟฟ้าได้ การจำกัดให้บริษัทจัดหาไฟฟ้าต่างๆ ต้องซื้อไฟฟ้าจากบริษัท EdF เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าส่วนนี้ ทำให้บริษัท EdF ขาดแรงจูงใจในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่สามารถเลือกได้ไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่: http://www.eppo.go.t...-04-france.html
กิจการไฟฟ้า ในสหราชอาณาจักร
โครงสร้างเดิมของกิจการไฟฟ้าในอังกฤษและเวลส์ ดำเนินการโดย Central Electricity Generating Board (CEGB) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าแต่เพียงรายเดียว โดยจำหน่ายไฟฟ้าในแบบขายส่งให้แก่ คณะกรรมการจำหน่ายไฟฟ้าใน 12 เขต ซึ่งแต่ละเขตก็จะจำหน่ายไฟฟ้าให้กับพื้นที่ที่กำหนด หรือ ในรูปธุรกิจ แฟรนไชส์ (Franchise) โดยมี Electricity Council ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานงาน และดูแลนโยบายโดยรวม ส่วนในสก๊อตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือ มีคณะกรรมการบริหารงานแบบรวมกิจการ (vertically integrated) ซึ่งผูกขาดการจำหน่ายไฟฟ้าในเขตต่างๆ โดยมีการวางแผนการลงทุนจากส่วนกลาง ในช่วงแรกๆ ภายใต้พระราชบัญญัติพลังงาน (Energy Act) ฉบับก่อนมีความพยายามที่จะเปิดโอกาสให้กับผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหม่ แต่ก็ติดอุปสรรคจากรูปแบบการดำเนินงานในรูปของบริษัท CEGB ซึ่งควบคุมทั้งธุรกิจการผลิตและสายส่งอยู่
ต่อมาได้มีการออกพระราชบัญญัติไฟฟ้า พ.ศ. 2532 (The 1989 Electricity Act) กำหนดให้มีการปรับโครงสร้าง และแปรรูปกิจการไฟฟ้า ส่วนใหญ่เป็นวิธีการขายหุ้นในตลาดหุ้น พระราชบัญญัตินี้ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลง ความเป็นเจ้าของจากรัฐไปสู่นักลงทุนเอกชน รวมทั้ง ไปสู่พนักงานของบริษัทที่รับช่วงการดำเนินงานไป ยิ่งไปกว่านั้นได้ส่งผลให้ตลาดมีการแข่งขันมากขึ้นด้วย และสิ่งสำคัญก็คือ ทำให้มีการแข่งขันในกิจการผลิต และจำหน่ายไฟฟ้า (การจำหน่ายในที่นี้ หมายถึง การซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตและนำไปจำหน่ายแก่ผู้บริโภค) นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้มีความซ้ำซ้อนในระบบสายส่ง และสายจำหน่าย จึงได้นำระบบการกำกับดูแลอิสระเข้ามาใช้ ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ ได้มีการแต่งตั้ง Director General of Electricity Supply เป็นผู้บริหารของหน่วยงานกำกับดูแล รายงานต่อประธานคณะกรรมการการค้า (President of the Board of Trade) ในส่วนของอังกฤษและเวลส์ และรายงานรัฐมนตรีแห่งสก๊อตแลนด์ (Secretary of State for Scotland) ในส่วนของสก๊อตแลนด์ โดยมีหน้าที่ดูแลให้ตลาดไฟฟ้ามีการแข่งขัน อย่างมีประสิทธิภาพ และปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค
ภายใต้การปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าในอังกฤษและเวลส์ ได้มีการแยกคณะกรรมการผลิตไฟฟ้าส่วนกลาง คือ CEGB ออกเป็น 4 ส่วน เมื่อเดือนเมษายน 2533 คือ ด้านการผลิตไฟฟ้าแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลในการผลิต ซึ่งมีบริษัทดำเนินการ 2 แห่งใหญ่ๆ ได้แก่ บริษัท National Power และ PowerGen ซึ่งร่วมดำเนินการกับภาคเอกชน ส่วนที่สองเป็นการผลิตไฟฟ้าโดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท Nuclear Electric โดยรัฐเป็นเจ้าของจนถึงปี พ.ศ. 2539
ส่วนที่สามคือ ระบบสายส่ง ได้โอนงานให้กับบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ชื่อ National Grid Company (NGC) ซึ่งยังได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ การกำหนดราคาในการซื้อขายไฟฟ้าในตลาดขายส่ง โดยผ่าน บริษัท NGC Settlement Ltd. มีการจัดตั้งบริษัทไฟฟ้าภูมิภาค (Regional Electricity Companies : RECs) ขึ้น 12 แห่ง แทนคณะกรรมการจำหน่ายไฟฟ้าใน 12 เขตเดิม และร่วมเป็นเจ้าของ NGC ด้วย จนกระทั่งถึงเดือนธันวาคม 2538 จึงได้นำบริษัท NGC เข้าตลาดหุ้น
ส่วนที่สี่คือ ด้านการจำหน่าย บริษัท REC แต่ละบริษัทจะทำหน้าที่จำหน่ายไฟฟ้า ให้แก่ตลาดแฟรนไชส์ในภูมิภาคของตน แม้ว่าลูกค้าที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด 100 กิโลวัตต์ หรือมากกว่านั้นจะสามารถซื้อไฟฟ้าได้โดยตรง จากผู้ขายรายใดก็ได้ ซึ่งมีลูกค้าที่ใช้สิทธิ์เลือกผู้ขายไฟฟ้าให้ตน เกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้า โดยรวมในอังกฤษและเวลส์ และเมื่อตลาดแฟรนไชส์ยกเลิกไป ในปี พ.ศ. 2541ลูกค้าทั้งหมดก็จะมีอิสระในการ เลือกซื้อไฟฟ้าจากผู้จำหน่ายไฟฟ้ารายใดก็ได้
ดูรายละเอียดทั้งหมดได้ที่: http://www.eppo.go.t...02-ukpower.html
เยอรมนี กำลังปฏิรูปกฎหมายพลังงานทดแทน หวังยุติปัญหาต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น โดยเปลี่ยนแปลงจากพลังงานนิวเคลียร์และฟอสซิลไปสู่พลังสีเขียว
เยอรมนี กำลังปฏิรูปกฎหมายพลังงานทดแทน หวังยุติปัญหาต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเปลี่ยนแปลงจากพลังงานนิวเคลียร์และฟอสซิลไปสู่พลังงานสีเขียว คิดเป็นสัดส่วน 25% ของการผลิตไฟฟ้าในเยอรมนี ถือเป็นการบังคับให้นักลงทุนหน้าใหม่ๆในอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานทดแทนต้องแบกรับความเสี่ยงบางประการ
เยอรมนี เศรษฐกิจใหญ่สุดในยุโรป ต้องการเพิ่มการใช้ไฟฟ้าพลังงานสีเขียวอีกสองเท่าเป็น 45% ภายในปี 2568ซึ่งคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล เห็นชอบเกี่ยวกับแผนปฏิรูปกฎหมายพลังงานทดแทน ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการปฏิรูปของรัฐบาลผสมชุดใหม่ และนางแมร์เคิลต้องการให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ หวังเปลี่ยนแปลงการใช้ไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์และฟอสซิล ไปเป็นพลังงานอื่นที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรม และการจ้างงานในประเทศ
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปด้านต่างๆ จะชะลอการขยายตัวอย่างรวดเร็วของพลังงานสีเขียว และบีบให้นักลงทุนในไฟฟ้าประเภทนี้ต้องรับความเสี่ยงบางประการ แต่ก็ปกป้องครัวเรือน ไม่ต้องแบกรับต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นในอนาคต แต่ให้อุตสาหกรรมจ่ายแพงขึ้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่สนับสนุนการเคลื่อนไหวนี้ แต่ก็ใช่ว่าทั้งประเทศจะคิดว่ารัฐบาลให้การช่วยเหลือผู้บริโภคมากพอ
ราคาพลังงานที่ใช้ตามครัวเรือนในเยอรมนี ยังอยู่ในระดับสูงสุดของยุโรป และผู้บริโภค ตลอดจนบริษัทบางแห่ง จ่ายค่าพลังงานทางเลือกผ่านบิลล์เก็บค่าไฟฟ้า
ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจากมูลนิธิ เฟรนดส์ ออฟ ดิ เอิร์ธ เยอรมนี "นายธอร์เบน เบกเกอร์" กล่าวว่า ไม่มีคำตอบใหม่จากรัฐบาลเกี่ยวกับราคาไฟฟ้า เพราะใครก็ตามที่ต้องการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าเพื่อผู้บริโภค ต้องไม่หยุดขยายการใช้พลังงานทดแทน แต่ต้องกำหนดราคาให้เป็นธรรมมากขึ้น และเลิกอุดหนุนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความกังวลสำหรับยุโรป แต่เยอรมนีและคณะกรรมาธิการยุโรป หรืออีซี บรรลุข้อตกลงยกเว้นค่าธรรมเนียมส่วนเกินพลังงานทดแทน ซึ่งให้ประโยชน์กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่มีความกังวลว่า การลดราคานี้จะทำให้อุตสาหกรรมของเยอรมนีได้เปรียบ ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อบริษัทคู่แข่งในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่น ๆ ผู้ที่เสียหายมากที่สุด จากการปฏิรูปครั้งนี้คือ บริษัทสาธารณูปโภครายใหญ่ๆอย่าง "อาร์ดับเบิ้ลยูอี" และ "อีดอทโอเอ็น" ซึ่งเป็นเจ้าของปั๊มก๊าซและถ่านหินจำนวนมากในประเทศ การผลิตที่มากกว่าความต้องการ กดราคาค้าส่งไฟฟ้าให้ถูกลง และบั่นทอนผลกำไร และยิ่งเยอรมนีคำนึงถึงสภาพแวดล้อมมากเท่าใด ทั้งสองบริษัทยิ่งเสียหายมากเท่านั้น
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง: สถานการณ์พลังงานในเยอรมนี | ไทยยุโรปดอทเน็ต (คลิก)
Edited by Stargate-1, 20 April 2014 - 09:52.