จัดให้คุณศรอรชุนตามข้อ 2 ครับ
ศาลสั่งไต่สวนการตายคดีแรก "พัน คำกอง" เสียชีวิตจากทหาร Mon, 2012-09-17 12:59
(เพิ่มเติม-แนบคำพิพากษาฉบับย่อ) ศาลอาญาอ่านคำสั่งไต่สวนระบุการตายของนายพัน คำกอง เป็นการเสียชีวิตขณะเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ การชุมนุม ตามคำสั่ง ศอฉ. ทนายฝ่ายผู้เสียชีวิตเตรียมยื่นฟ้องอาญาต่อ
(17 ก.ย.55) เวลา 10.45 น. ศาลอาญา รัชดา อ่านคำสั่งไต่สวนการตายนายพัน คำกอง คนขับแท็กซี่ที่ถูกยิงเสียชีวิตคืนวันที่ 14 ต่อ 15 พ.ค.53 บริเวณแอร์พอร์ตลิงก์ราชปรารภในเหตุการณ์ทหารยิงรถตู้ที่วิ่งเข้ามา โดยคดีนี้ถือเป็นคดีแรกที่ศาลจะอ่านคำสั่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอ่านคำสั่งกว่า 1 ชม.ครึ่งระบุว่า ด้วยพยานหลักฐานทั้งหมดชี้ว่าผู้ตายถูกกระสุนปืนขนาด.223 (5.56 มม.) จากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่ร่วมกันยิงไปยังรถตู้ที่วิ่งเข้ามายัง พื้นที่หวงห้ามแล้วกระสุนไปโดนผู้ตายที่ออกมาดูเหตุการณ์ ทั้งนี้ ให้ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไป
(ดาวน์โหลดคำพิพากษาฉบับย่อได้ในไฟล์แนบ) ศาลอ่านคำสั่งสรุปความได้ว่า จากการสืบพยาน ประจักษ์พยาน เจ้าหน้าที่ทหาร โดยรวม พฤติการณ์ต่างๆ ทำให้เชื่อว่าวันเกิดเหตุกลุ่มคนที่ร่วมกันระดมยิงอาวุธปืนที่ใช้ในราชการ สงครามใส่รถยนต์ตู้คันเกิดเหตุนั้นเป็นเจ้าพนักงานทหาร แม้ไม่มีประจักษ์พยานเห็นว่าผู้ตายถูกลูกกระสุนปืนของผู้ใด แต่บริเวณที่เกิดเหตุดังกล่าวเป็นพื้นที่ควบคุมของเจ้าพนักงานทหาร ที่ควบคุมพื้นที่ทั้งสองฝั่งถนนของที่เกิดเหตุ
สภาพรถยนต์ตู้ก็ถูกยิงจากด้านหน้า ด้านซ้าย และด้านขวาของตัวถังรถยนต์ ในช่วงเกิดเหตุไม่มีคนร้ายเข้าไปในที่เกิดเหตุในลักษณะเข้าไปยิงปะทะต่อสู้ กับเจ้าพนักงานทหารตามที่วินิจฉัยข้างต้น คงมีเพียงเจ้าพนักงานทหารที่สามารถใช้อาวุธปืนยิงรถยนต์ตู้ เพราะฝ่าฝืนคำสั่งที่ประกาศเตือนไม่ให้แล่นเข้าไปในพื้นที่ควบคุม ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับผู้ตายวิ่งออกไปดูเหตุการณ์ บริเวณหน้าสำนักงานขายคอนโดมิเนียม ไอดีโอคอนโด
นอกจากนี้ยังปรากฎว่าลูกกระสุนปืนที่พบในศพผู้ตายกับในตับของนายสมร คนขับรถยนต์ตู้เป็นกระสุนขนาด .223 (5.56 มม.) เช่นเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบวิถีกระสุนจากศพผู้ตายกับวิถีกระสุนของรถยนต์ตู้อยู่ในแนว เดียวกันกับตำแหน่งเจ้าพนักงานทหารที่ควบคุมพื้นที่ จึงเชื่อว่าการตายของผู้ตายเกิดจากถูกลูกกระสุนปืนจากการยิงของเจ้าพนักงาน ทหาร ยิงใส่รถยนต์ตู้ขณะที่แล่นเข้าไปในพื้นที่ควบคุมภายหลังเจ้าพนักงานทหาร ประกาศเตือนให้หยุดแล่น
ส่วนการตรวจอาวุธปืนเล็กกล แบบเอ็ม 16 ที่ส่งไปจาก ปพัน31 รอ. หรือ ร.1 พัน 3 รอ. เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นอาวุธปืนกระบอกเดียวกับที่ใช้ยิงกระสุนปืนที่พบในศพของ ผู้ตายหรือไม่ แม้ผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่า ไม่มีอาวุธปืนกระบอกใดที่ใช้ยิงกระสุนทดสอบตรงกับอาวุธปืนที่ใช้ยิงลูก กระสุนที่พบในศพผู้ตายก็ตาม แต่เป็นการตรวจหลังเกิดเหตุเป็นเวลานาน ทั้งตามระเบียบราชการก่อนมีการเก็บรักษาอาวุธปืนที่ใช้ หลังการยิงทุกครั้ง ไม่ว่าหลังการฝึกยิงหรือยิงในราชการอื่นใดก็ต้องมีการทำความสะอาดอาวุธปืน ดังกล่าวทุกครั้ง การทำความสะอาดแต่ละครั้งย่อมทำให้ร่องรอยพยานหลักฐานจากอาวุธปืนกระบอก นั้นๆ เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนแปลงอะไหล่ในส่วนสำคัญของอาวุธปืนได้จนทำให้วัตถุ พยานผิดข้อเท็จจริง ทั้งยังได้ความว่า กระสุนปืนขนาดดังกล่าวยังสามารถใช้กับอาวุธปืนแบบทาเวอร์ ทาร์ หรือเอชเค 33 ด้วย ลำพังผลการตรวจอาวุธปืน แบบเอ็ม 16 ดังกล่าวไม่ทำให้ผลการรับฟังข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป
จึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายชื่อ นายพัน คำกอง ตายที่หน้าสำนักงานขายคอนโดมิเนียมชื่อ ไอดีโอคอนโด ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เหตุและพฤติการณ์ที่ตายเกิดจากการถูกลูกกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถยนต์ ตู้ หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายสมร ไหม เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย ในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ ปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า ภรรยา ลูกสาว พี่และน้องของนายพัน รวมทั้ง นพ.เหวง โตจิราการ และธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำ นปช. ได้เดินทางมารับฟังคำสั่งศาลด้วย โดยหลังนายพันเสียชีวิต นางหนูชิต คำกอง ภรรยาของนายพันได้กลับไปอยู่กับลูก 4 คนที่ภูมิลำเนาจังหวัดยโสธร ประกอบอาชีพทำนา ทั้งนี้ ได้รับเงินชดเชยจากทางรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว
นางหนูชิต ให้สัมภาษณ์หลังฟังคำสั่งว่า ดีใจที่ผลการไต่สวนออกมาเช่นนี้ และหวังว่าคดีนี้ซึ่งเป็นคดีไต่สวนการตายคดีแรกจะเป็นมาตรฐานให้กับคดีอื่นๆ ด้วย
ด้านนายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายฝ่ายผู้เสียชีวิต ระบุว่า การอ่านคำสั่งศาลนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเพื่อระบุว่าผู้ตายเป็นใคร ตายด้วยเหตุอะไร ใครเป็นผู้ทำให้ตาย โดยยังไม่ใช่การพิพากษาคดีหรือหาคนกระทำผิด หลังจากศาลอ่านคำสั่งแล้ว ก็จะส่งสำนวนให้อัยการดำเนินการตามขั้นตอนคดีอาญาทั่วไป ซึ่งในกรณีนี้อัยการน่าจะส่งให้ตำรวจรวบรวมยพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อหาผู้ กระทำผิดต่อไป
ที่มา
http://prachatai.com...l/2012/09/42676