“อากงเสียชีวิตเร็วเกินไป เป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะประชาชนต้องเรียนรู้จากกรณีนี้ ถือเป็นเรื่องใหญ่ระหว่างประเทศ และประชาชนจะไม่ยอ รัฐอำมาตย์ไทย จะไปกลัวอะไร ถึงไม่ให้อากงประกันตัว”
คำถามก็คือ 1.“อากง” ตายเร็วเกินไปจริงหรือ?
ตอบ : อากงตายไปตามความร้ายแรงของโรค ตายไปตามกฎ “เกิด แก่ เจ็บ ตาย”ของชีวิต ส่วนจะตายเร็วหรือช้าไป ขึ้นกับความสัมพันธ์ของอากงกับคนคนนั้น เช่น กับเมีย ลูก หลาน ที่เป็นคนในครอบครัวผูกพันกัน รัก และร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา คนเหล่านี้
ไม่มีใครอยากให้อากงตาย อยากอยู่ด้วยกันไปตราบนานเท่านาน ฉะนั้น เขาอาจรู้สึกว่าอากงตายเร็วเกินไป
แต่ธิดาเป็นคนนอกครอบครัว ได้รู้จักเพราะอากงดูจะเป็น
“เครื่องมือทางการเมือง” ที่เด็ดขาดดีใช่หรือไม่ เป็น “รากหญ้า”
ที่น่าสงสาร สามารถสร้างเป็นตัวละครการเมืองถูกกระทำย่ำยีจาก “อำมาตย์” ได้ง่าย เพราะเกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเกี่ยวข้องกับชนชั้นสูง ใช่หรือไม่?
มีกี่ครั้งที่ธิดาแสดงความรัก เห็นใจ วิ่งเต้นช่วยเหลืออากงทุกกรณี ด้วยความเป็นห่วง ด้วยความผูกพันเหมือนคนในครอบครัว ฉะนั้น “ลมปาก” ของนางธิดา ที่มากล่าวในคราวอากงเสียชีวิต จึงเป็นแค่ลมปากของ “ประธาน นปช.” ส่วนจะเต็มขั้นของลมปากแบบ “มนุษย์” ด้วยหรือไม่นั้น วิญญูชนโดยเฉพาะครอบครัวของอากงควรพิจารณา
เวลาจะสร้างกระแส อุตส่าห์เอาคำว่า “อากง” ไปครอบให้นายอำพลทั้งที่อายุ 61 ปี เพื่อให้คนเห็นภาพชายชรางกๆ เงิ่นๆ
ตามคำว่า “อากง” ในจินตนาการ แถมจุดประเด็นป่วยด้วยโรคร้าย ก็ในเมื่อใช่ตรรกะ “แก่” และ “เจ็บ” ตั้งแต่ต้น เมื่อเข้าถึงกฎข้อสุดท้ายของชีวิตคือ “ตาย” จะแปลกอะไรล่ะ ป้าธิดา?
ฉะนั้น อากงตายเร็วไปหรือไม่ ต้องไปดูว่ากรมราชทัณฑ์ดูแลอากงอย่างไร ในขณะถูกจองจำ บวกกับระดับความร้ายแรงของโรคที่เป็น
กับครอบครัวของอากง เขาคงตายเร็วเกินไป แต่กับนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่สลักสำคัญอะไร อยู่กูก็ใช้ประโยชน์ ตายก็ยิ่งดี รีบจำแลงแปลงร่างเป็นอีแร้งบินมาทึ้งศพ ใช้ประโยชน์จากการตายของนายอำพลกันยกใหญ่ และผ่านไปสัปดาห์กว่าๆ ดูท่าจะหาประโยชน์ไม่ได้แล้ว ก็เลิก
ฉะนั้นประโยคที่ว่า“เป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะประชาชนต้องเรียนรู้จากกรณีนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ระหว่างประเทศ และประชาชนจะไม่ยอม” ถามว่า วันนี้ธิดาได้ทำอะไรเพื่ออากงต่อระหว่างประเทศ เธอได้ทำอะไรให้มั้ย นอกจากวางเขื่อนในถ้อยในคำ พูดให้ดูใหญ่โตไป แต่ไม่ได้ทำอะไรตามที่พูด
ขณะที่ครอบครัวยังเศร้าสร้อย คุณเห็นความเศร้าอะไรในแกนนำที่ชื่อ“นางธิดา” และที่ว่าประชาชนจะไม่ยอม คุณเห็นพวกเขา
ต่อสู้อะไร นอกจากยืมศพ แห่ไปให้อุจาดตา น่าสมเพชทั่วกรุง แล้วเอามาตั้งให้ที่วัด จากนั้นพวกเขากับนางธิดาก็หากิจกรรมใหม่ๆ ทำต่อไป สันดานเช่นนี้ ครอบครัว “ตั้งนพกุล” ควรจำไว้ และ “รู้เช่นเห็นชาติ” พวกแร้งกาทางการเมืองเสียที!
2. “อำมาตย์ไทย” ไปเกี่ยวอะไรกับการให้ประกันหรือไม่ให้ประกันนายอำพล
ตอบ : เราพึงต้องยอมรับความจริงว่า มีหญิงชราและชายชราจำนวนไม่น้อย เจ็บป่วยและเลอะเทอะเลอะเลือนได้ ผมไม่รู้ว่าป้าธิดา
มีอาการที่ว่านั้นหรือไม่ หากใครสงสัย ต้องพาป้าไปตรวจเอาเอง
แต่ในทางวาทกรรม สิ่งที่ป้าละเมอเพ้อพกนี้ ตรวจได้ครับว่า เหตุใด ศาลจึงไม่ให้ประกันตัว
นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า “หากเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 108 ที่ว่าด้วยการปล่อยตัวผู้ต้องหาชั่วคราวนั้น จำเป็นต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนและเพียงพอที่ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวได้ ส่วนจะอนุญาต
หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล กว่า 93% ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัว แต่กรณีนายอำพลนั้น เป็นการเจ็บป่วยที่ไม่ชัดเจนในตอนที่แจ้งขอรับการประกันตัว จึงเป็นเหตุผลให้ศาลไม่อนุญาต และหากอากงนั้น มีอาการเจ็บป่วยขึ้น ก็สามารถรับการรักษา
ในโรงพยาบาลของกรมราชทัณฑ์ได้”
ถ้าฟังข้อเท็จจริงจากนายสราวุธ ย่อมชัดเจนว่า เป็น “ความบกพร่อง” ของทนายความใช่หรือไม่?
ต่อมา มีการเผยแพร่ความเห็นทนายความนายอำพลผ่านเว็บไซต์ “ประชาไท” พยายามเน้นจำนวนครั้งที่ยื่นประกันตัว มากกว่าเน้นสาระ ซึ่งความเห็นในการไม่ให้ประกันตัวของศาล ก็ชัดเจนว่า
“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีกับพยานหลักฐานที่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วนับว่าร้ายแรง ประกอบข้อที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยังไม่มีเหตุให้เชื่อว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด หากให้ปล่อยตัวชั่วคราว ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนี และที่จำเลยอ้างเหตุความเจ็บป่วย ไม่ปรากฏถึงขนาดจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ ทั้งทางราชการก็มีโรงพยาบาลที่จะรองรับให้การรักษาได้อยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”
ก็สอดคล้องกับคำพูดนายสราวุธที่บอกว่า ทนายไม่ได้ชี้ “ความชัดเจนหรือร้ายแรงของความเจ็บป่วย” ประกอบกับศาลให้น้ำหนักว่า กรมราชทัณฑ์มีหน้าที่ต้องดูแลความเจ็บป่วยของ ผู้ที่ถูกควบคุมตัวอยู่แล้วด้วย จึงเป็นเหตุให้ศาลยกคำร้อง
ต่อมา 13 มีนาคม 2555 มีการยื่นขอประกันตัวอีก ระบุความชัดเจนของความเจ็บป่วย ทว่าศาลก็ให้น้ำหนักว่า คดีมีความร้ายแรง โดยพิจารณาจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นประกอบ (ผู้ที่อยากเข้าใจ เรื่องอย่างถ่องแท้ ควรอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วย ไม่อย่างนั้น จะยืนอยู่บนหลักของจำเลยว่าศาลตัดสินฉันอย่างไม่เป็นธรรม) ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าจำเลยจะไม่หลบหนี ส่วนความเจ็บป่วยนั้น ศาลยังให้น้ำหนักว่า กรมราชทัณฑ์มีระบบดูแลรักษาอยู่อย่างเต็มที่
“พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี และเหตุผลคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้ว เห็นว่า เป็นเรื่องร้ายแรงประกอบกับศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกจำเลยถึง 20 ปี ถ้าได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ส่วนที่อ้างความป่วยเจ็บนั้นเห็นว่า จำเลยมีสิทธิ ได้รับการรักษาพยาบาลโดยหน่วยงานรัฐอยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวชอบแล้ว ยกคำร้อง”
ทั้งนี้ นายสราวุธ เบญจกุล ระบุหลังการเสียชีวิตของ นายอำพลว่า ศาลเอง ก็รู้สึกไม่สบายใจ และเสียใจกับเหตุการณ์
ที่เกิดขึ้นพร้อมกับเป็นห่วง และไม่อยากให้ใครมาใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทำลายฝ่ายตรงข้าม
ขณะที่นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงเรื่องที่มีการอ้างความเจ็บป่วยผู้ต้องขังว่าควรได้รับการประกันตัวว่า ไม่จำเป็นว่าเมื่ออ้างความเจ็บป่วยแล้ว ต้องได้รับประกันตัวเสมอไป แต่เป็นเรื่องที่ศาลจะนำมาประกอบการพิจารณาจากสำนวนที่ยื่นมาว่า มีความเหมาะสมเรื่องอาการบาดเจ็บและคดีมีความร้ายแรงหรือไม่ เพราะปัจจุบันถึงจะถูกคุมขัง ถ้าเจ็บป่วยหนักจริง
ทางเรือนจำสามารถส่งตัวมารักษาข้างนอกได้ โดยคดีอากง ตนสั่งตรวจสอบสำนวนว่า การยื่นขอประกันตัวระบุหรือไม่ ว่าอาการเจ็บป่วยหนักขนาดไหน เท่าที่ทราบการประกันตัวครั้งสุดท้าย อ้างความเจ็บป่วยจริง
“ระบบศาลยุติธรรมนั้นมีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ หากสภาผู้แทนราษฎรสงสัยในสำนวนไหนก็สามารถเรียกเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมชี้แจงได้ ที่ผ่านมามีการปฏิบัติเช่นนี้หลายครั้ง ถ้าสภาฯตรวจสอบแล้วยังเห็นว่าไม่เหมาะสม สภาฯจะเสนอแก้ไขกฎหมายตั้งเป็นหลักเกณฑ์มาเลยว่า จำเลยป่วยสามารถประกันตัวได้ แต่ก็ต้องดูว่าทั่วโลกมีหลักกฎหมายแบบนี้หรือไม่ แค่ไหน”
อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญายังบอกด้วยว่า
“คดีนี้ศาลอาญามีคำพิพากษาไปแล้ว จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์และยื่นประกันตัวชั้นศาลอุทธรณ์ ศาลอาญาจึงส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง แต่ระหว่างพิจารณาชั้นอุทธรณ์จำเลยขอถอนอุทธรณ์ประมาณเดือนมีนาคม 2555 โดยผมทราบจากข่าวว่า จำเลยโดยทนายความ ประสงค์จะใช้สิทธิ์ยื่นถวายฎีกา เพราะจะถวายได้ต่อเมื่อคดีต้องถึงที่สุด ดังนั้นเมื่อคดีถึงที่สุด ก็ไม่อาจยื่นประกันตัวอีกได้ ถึงยื่นประกันก็คงไม่ได้ประกัน เนื่องจากคดีไม่ได้ค้างพิจารณาในระบบศาลยุติธรรมแล้ว
ดังนั้น นายอำพลจึงอยู่ในการควบคุมของราชทัณฑ์ ซึ่งมีการรักษาพยาบาลของเขาอยู่แล้ว ถ้าจะนำตัวมารักษาข้างนอกก็อาจทำได้ ขึ้นกับดุลพินิจผู้ควบคุม ต่อมาเมื่อเสียชีวิตไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ก็ถือว่าตายระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150-156 กำหนดให้อัยการยื่นคำร้องไต่สวนชันสูตรพลิกศพ หาสาเหตุการตาย ซึ่งอาจพิจารณาคดีนี้ ในศาลอาญาอีกครั้ง”
โดยสรุป : ทั้งหมดที่ไล่เลียงมา ชัดเจนว่า เป็นเพราะพฤติการณ์ในคดีที่นายอำพลก่อไว้ เป็นเหตุให้ต้องคำพิพากษา
จำคุก โดยครอบครัวนายอำพลควรตั้งสติ ตรวจสอบว่า ที่นายอำพลถูกจำคุก เพราะทำอะไรไว้ ถ้ายังยืนกรานว่าเขาบริสุทธิ์ ก็ควรตรวจสอบให้ชัดว่า ทนายความได้ต่อสู้เพื่อให้นายอำพล “แพ้คดี” หรือ “ชนะคดี” ทนายเก่งตอน “สู้คดีในศาล” หรือเก่งตอน “ให้ข่าว” และภูมิหลังทนายคนนี้ เป็นอย่างไร เพราะการตัดสินคดีนั้น ศาลทำได้เพียงใช้ดุลพินิจจากข้อมูลการหักล้างที่ปรากฏหน้าบัลลังก์ศาลเท่านั้น มิอาจ “ดราม่า” ไปกับข้อมูลนอกศาลหรือกระบวนการ “โชว์นม” ภาคประชาสังคมใดๆ ได้
กรณีนี้ จึงไม่มี “อำมาตย์” ใดๆ ไปเกี่ยวข้อง ตามคำเพ้อของนางธิดาเลย
และหากจะเรียกร้องความเป็นธรรม ผมเห็นด้วยที่จะต้องไปตรวจสอบการทำหน้าที่ “กรมราชทัณฑ์” ซึ่งเป็นผู้ “คุมขัง” และมีหน้าที่ต้อง “ดูแลนายอำพล” ในฐานะ“มนุษย์คนหนึ่ง”
แต่ก็น่าประหลาด ที่ผีอำมาตย์ยังออกหลอกหลอนไม่จบ
กล่าวคือ ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำตัดสินให้จตุพร พรหมพันธุ์ พ้นสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นพ.เหวง โตจิราการ ก็ปลุกผี “อำมาตย์” ขึ้นหลอกหลอนคนเสื้อแดงทันควัน
“ผมเชื่อว่าเกมนี้อาจเป็นกลเกมของฝ่ายอำมาตย์ เพราะมีความพยายามทุกวิถีทางที่จะยุบพรรคเพื่อไทย ซึ่งการที่ศาลตัดสินเช่นนี้ หากมีการอ้างถึงหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ว่ารู้อยู่แล้วว่า นายจตุพรขาดคุณสมบัติแล้วยังส่งรับสมัครเลือกตั้ง ฝ่ายตรงข้ามอาจนำไปสู่การยุบพรรคได้”
เฮ้อ!! ไม่รู้ว่าอำมาตย์เฮี้ยน หรือผัวเมียคู่หนึ่งมันเพี้ยนกันแน่!!